1.peter lych บอกว่า ราคาหุ้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญน้อยที่สุด
แต่ว่าคนใช้เวลาไปดูมากที่สุด และเขามองว่าเค้าจะไม่คิดว่าหุ้น
ตัวนี้เคยมีราคาในอดีตมาก่อน จะได้ไม่ต้องสับสน
ส่วนอีกรายนึง john neff
บอกว่าจะชอบดูหุ้นที่ ราคาทำ new low รอบปี
อืม สองเซียนระดับโลก มองต่างมุม
พี่ ih มองอย่างไรครับ
- ก็คงแล้วแต่ style ของทั้ง 2 คนซึ่งบางอย่างก็มีส่วนคล้ายกันแต่บางอย่างก็ต่างกันครับซึ่งทั้ง 2 คนก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่ครับ การใช้เวลาดูหน้าจออาจจะสร้างโอกาสที่ดีในการหาจังหวะซื้อหุ้น ( หรือกลับกันอาจจะทำให้ขาดทุนจากความไม่นิ่งซื้อและขายบ่อยๆ ได้ ) แต่การใช้เวลาที่จะไปดูราคาหุ้นทั้งวัน มาเจอผู้บริหารบริษัท ขับรถเยี่ยมชมกิจการ อ่านข่าวสารต่างๆ ก็เพิ่มโอกาสในการหาหุ้นดีๆ และติดตามข้อมูลหุ้นเราถือได้มากเช่นกัน ดังนั้นการจัดสมุดลเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญครับ อีกทั้งการประสบความสำเร็จในการลงทุนต้องจะต้องมีสไตล์ที่เหมาะสมกับตัวเราเองครับ
2.ผมอยากตั้งข้อสังเกตุวง่า การเล่นหุ้นของ ด.ร.นิเวศน์ในปัจจุบัน
ที่คล้ายๆกับ warren คือเล่นหุ้นมี brand มี five force
ที่ทีซึ้งดูๆแล้วเมื่อก่อน ด.ร. นิเวศน์ สมัยเล่นหุ้นใหม่ๆก็ไม่ได้เล่น
หุ้นแบบนี้ ดูๆจากหุ้นที่เล่นน่าจะเป็นแนวสินทรัพย์มากกว่า เช่น
Ssc แต่พอเริ่มมีเงินมากขึ้น เล่นหุ้นตัวเล็กไม่ได้ก็หันมาเล่นหุ้น
มี brand
คำถามก็คือ คนที่อายุยังน้อย เงินทันไม่มาก การเล่นหุ้นที่ model
ดีอย่างหุ้นค้าปลีก โรงบาล ดูๆไปก็คงทำให้ port โตมากๆได้ยาก
คงต้องไปหาหุ้น turn around หรือ pe ต่ำ โตสูงๆ เล่นแทน
พี่ ih มีความเห็นอย่างไร
- ก็เป็นไปได้ครับ แต่อย่าลืมว่าหุ้น รพ. ในปัจจุบันก็ขึ้นมา 2-4 เท่าของราคาเมื่อ 3-4 ปีก่อน หุ้นค้าปลีกบางตัวก็ขึ้นมา 2-3 เท่าจากราคาเมื่อ 5 ปีก่อน ดังนั้นคงจะขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นแนวโน้มธุรกิจนั้นว่ามันจะดีก่อนคนอื่นแค่ไหนครับ ส่วนถ้าพอร์ตใหญ่ขึ้นก็คงจะต้องลงทุนในหุ้นที่ mkt cap ใหญ่ขึ้นเพราะหุ้นขนาดเล็กจะเริ่มทำให้มีปัญหาในการซื้อขายและจำนวนที่ซื้อได้อาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ ส่วนถ้าอายุยังน้อยผมก็เห็นด้วยว่าอาจจะมีพอร์ตบางส่วนที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและโตเร็ว ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำให้ได้กำไรเป็น % สูง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยครับ หรือแม้กรณีของ warrant ก็เป็นการ leverage พอร์ตอย่างหนึ่งโดยที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย ซึ่งผมเองก็ไม่รังเกียจ warrant จะว่าไปก็ชอบด้วยซ้ำครับเพราะสมัยก่อนก็เคยถือ warrant หลายตัวเพราะใช้เงินน้อยกว่าการซื้อหุ้นแม่ เพียงแต่ปัจจุบันไม่ค่อยมี warrant ที่น่าสนใจเหมือนเมื่อก่อนนัก การลงทุนบางครั้งก็เหมือนเกมกีฬาเช่น ฟุตบอลหรือมวย คือ เราอาจจะต้องมีสไตล์ที่หลากหลายได้ครับ ถ้าทีมฟุตบอลไหนมีรูปแบบการเข้าทำแบบเดียวเล่นไปซักพักคู่แข่งก็จับทางได้ การลงทุนในหุ้นก็มีหลากหลายครับ เช่น หุ้น growth หุ้นถูกก้นบุหรี่ หุ้นปันผลสูง หุ้น commodity หุ้น turnaround เล่นรอบ ฯลฯ แต่ที่สำคัญต้องเป็นตัวของตัวเอง และต้องเห็นอะไรก่อนคนอื่นเห็นครับ
3.คุณ ih คิดว่า เมืองไทยส่วนใหญ่หุ้นจะผันผวนและ หวือหวามาก
อย่าง makro ขึ้นไปถึง 110 เกือบ 3 ครั้ง และก็ไม่ผ่าน ดูเหมือน
คนเล่นรอบจะได้กำไรมากกว่า คุณ ih คิดว่า สมมุติว่าเรามี
Makro 10 หุ้น พอมันขึ้นมาซัก 10-15% เราก็เอาซัก 3 หุ้นหรือ
30% มาเล่นรอบ ถ้ามันไปต่อก็รอขายเพิ่ม ถ้าลงก็เอา 30% นั้นซื้อคืน
พี่ ih มีความเห็นยังไง
- จากข้อ 2 ก็ขึ้นกับสไตล์ของเราครับ ถ้าขายแล้วเกิดขึ้นต่อแล้วเราทำใจได้ หรือกล้าซื้อกลับแพงกว่าก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ แต่ถ้าทำแล้วเกิดความไม่สบายใจกังวลใจว่ามันจะลงกลับมาให้ซื้อไหม ก็แสดงว่าเราอาจจะไม่เหมาะที่จะทำแบบนี้ครับ
4.คุณ ih ครับ มีคนบอกผมว่า stock selection เป็นแค่ 25%
ของความสำเร็จ ที่เหลือเป็นเรื่องอื่น ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็น portfolio
Management ความอดทนต่อภาวะตลาด
อะไรต่างๆ หนนี้อยากฟัง comment พี่ ih เรื่อง ว่าในมุมมองพี่
มีการจัด portfolio ที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง
- Stocks selection คงจะไม่ใช่ปัจจัยทั้ง 100% ก็มีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องเช่นกันครับ เช่น บางคนเลือกหุ้นดี แต่ถ้ายังไม่มั่นคงก็อาจจะขายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หรือพอเห็นตลาดไม่ดีแต่เอาหุ้นดีๆ ในพอร์ตมาขายแทนที่จะเอาหุ้นแย่ๆ มาขาย แต่ผมก็คิดว่า stocks selection ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ ถ้าเลือกถูกตัวแล้วอาจจะเป็นหุ้นทีเราถือได้ 5 ปี 10 ปีหรือตลอดชีวิตก็ได้ครับ
5.คุณ ih คิดว่าการเป็นนักลงทุน full time ต้องมีเงินปันผลเป็น 1.5-2 เท่า
ของค่าใช้จ่าย เช่น ยังโสด มี port 10 ล้าน ปันผลปีละ 4.5%
เดือนละ 40000 กว่า ถ้าค่าใช้จ่ายคนนั้นเดือนละ 30000 คนนั้นก็เป็นนักลงทุน
Full time ได้แล้ว คุณ ih มีความเห็นยังไงบ้างครับ
- เป็นความคิดที่ถูกแล้วครับว่านักลงทุน full time ควรพึ่งพิงรายได้จากปันผลเป็นหลัก ไม่ควรจะหวังรายได้จากกำไรจากการซื้อขายแต่ละปีครับ เพราะเรื่องปันผลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแน่นอนแต่ราคาหุ้นขึ้นลงแต่ละปีนั้นไม่แน่นอน บางครั้งหุ้นที่เราถือปีนั้นอาจจะมีปันผลเพิ่มขึ้นแต่ราคาหุ้นอาจจะลดลงมาก่อได้ครับ
ส่วนรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นจะพอหรือไม่พอนั้นก็แล้วแต่ lifestyle ด้วยนะครับ บางคนรายได้ 3-4 หมื่นก็น่าจะเยอะแล้ว บางคนอาจจะเห็นว่าอาจจะน้อยไป โดยเฉพาะหากอนาคตมีครอบครัวมีลูก ผมคิดว่าถ้ามีลูกด้วยรายได้ 3-4 หมื่นก็อาจจะน้อยไปหรือต้องบริหารดีๆ เรื่อง lifestyle นั้นแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนกินข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว บางคนอยากกินอาหารดีๆ บ่อยๆ เพราะมองว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต บางคนขับรถญี่ปุ่นคันเล็กๆ ก็พอใจแล้ว บางคนอาจจะอยากขับรถยุโรปเพราะอาจจะมองว่าขับสบายกว่า ปลอดภัยกว่า บางคนคิดว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นเรื่องสิ้นเปลือง บางคนคิดว่าคุ้มค่าเพราะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิตและการลงทุน บางคนไป รพ. รัฐหรือ รพ. ประกันสังคมก็คิดว่าไม่มีปัญหา บางคนคิดว่าสุขภาพสำคัญต้องรพ. บำรุงราษฎร์หรือ รพ. กรุงเทพ ฯลฯ จึงจะมั่นใจ บางคนวิ่งสวนลุมหรือสวนสาธารณะ บางคนอยากตีกอล์ฟหรือดำน้ำ ผมคิดว่าไม่มีผิดมีถูก ถ้าประหยัดใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายแล้วมีความสุขก็ไม่มีปัญหา บางคนประหยัดมากๆ แล้วทุกข์ก็แย่เพราะอาจจะฝืนตัวเองเกินไป ผมคิดว่าก็ใช้ชีวิตให้ตรงกับ lifestyle ดีกว่า แต่ต้องให้สัมพันธ์กับสินทรัพย์ที่เรามีแค่นั้นเองครับ เช่น ถ้ามีเงิน 10 ล้านแล้วซื้อเบนซ์ E class รุ่นใหม่มาขับผมคิดว่าอาจจะซื้อเร็วไปหน่อย อะไรทำนองนี้ครับ ปัญหาของคนไทยตอนนี้คือใช้เงินและชีวิตหรือ มี lifestyle เกินเงินที่เรามีมากกว่าครับ อย่างเช่น เงินเดือน 1 หมื่น แต่ซื้อโทรศัพท์เครื่องละ 1 หมื่น กระเป๋าใบละ 5 พัน ผมว่าอันนี้น่าคิดแล้วครับ
6.ทำไมงบ q1 ของหลาย บ.ล. ถึงโตได้ค่อนข้างดี เป็นเพราะว่า ฐานกำไรปีที่แล้วต่ำ
หรือว่าเป็นเพราะความเชื่อมั่นค่อนข้างดี เช่น It hmpro cpall งบออกมาโตค่อน
ข้างใช้ได้ทีเดียว หรือ sis ก็โตเยอะมาก
- ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีที่แล้วมีระเบิดช่วงต้นปีจึงทำให้ความเชื่อมั่นต่ำ จึงทำให้ฐานกำไรของหุ้นค้าปลีกและหุ้นอื่นๆ ปีก่อนค่อนข้างต่ำด้วยครับ โดยเฉพาะค้าปลีกที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่พอจะชะลอการซื้อได้ นอกจากนี้ Q1 ปีนี้ก็เพิ่งเลือกตั้งกันเสร็จก็ยังมีบรรยากาศการเมืองที่ดีพอใช้อยู่ แต่ลองเปรียบเทียบกับช่วงนี้สิครับ
7.มีคนพูดว่า เราควรจะลงทุนเมื่อเรามั่นใจแค่ 80% ในหุ้นตัวนั้นเพราะว่า ถ้าเรามั่นใจ
100% จะทำให้เรา overconfidence และไม่เห็นข้อด้อยและสัญญาณเตือนภัยต่างๆ
ของหุ้นตัวนั้น พี่ ih มองประเด็นนี้ว่าอย่างไร
- มั่นใจ 100% ได้ครับ แต่ต้องเผื่อใจว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน และทุกคนมีสิทธิที่จะผิดพลาดได้ครับ ส่วนจะ overconfident มั้ย งั้นลองท่องหลักหนึ่งของ Steve Jobs ที่กล่าวสุนทรพจน์ไว้กับนักศึกษาจบใหม่ว่า “ Stay hungry, stay foolish ” ที่บอกว่า Stay hungry ไม่ใช่ให้โลภนะครับแต่ให้หิวกระหายต่อความรู้ใหม่ๆ หรือความสำเร็จใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ส่วน stay foolish ก็คือถ้าเราคิดว่าเราฉลาดแล้ว เราจะไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่ม ดังนั้นเมื่อเราลงทุนในหุ้นตัวใดแล้วเราก็ต้องเปิดรับข้อมูลรอบด้าน ทั้งด้านบวกด้านลบ ทั้งปัจจุบันและข้อมูลที่จะเข้ามาในอนาคต หุ้นทุกตัวก็เหมือนคนครับ มีจุดเด่นที่น่าลงทุนและจุดด้อยที่ไม่น่าลงทุนครับ เพราะไม่งั้นทุกๆ คนคงแห่กันไปซื้อหุ้นตัวเดียวกันหมดแล้วครับ
8.คุณ ih คิดว่า วิชา finance มีผลมากน้อยแค่ไหนกับ การประสบความสำเร็จในหุ้น
ผมเองเคยไปงาน open house ของธรรมศาสตร์คณะ mif master in finance
ก็รู้สึกว่าน่าเรียนดี แต่ว่า ผมเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ผมอ่อนเลขมาก แต่ว่า pre course
ต้องเรียนวิชา calculus เป็นภาษาอังกฤษ โอ๊ย ผมเรียนไม่ไหวหรอก แค่ภาษาไทยก็ตายแล้ว
รู้สึกน้อยใจเล็กน้อย คิดว่ามีวิชาที่น่าสนใจคือวิชา behavior finance คุณ วิศิษฐ์ เคยสอน
แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังสอนอยู่ไหม
และเห็นหลายคนทำวิจัยเรื่องหุ้นแล้วเท่น่าดู แต่ผมไม่มีปัญญาเรียนนี้สิครับ
พี่ ih ขอ comment ครับ
- ตอนนี้คณิตศาสตร์ที่ผมใช้ในชีวิตก็เป็นการบวก ลบ คูณ หาร ธรรมดาครับ ตั้งแต่ลงทุนมาผมจำไม่ได้ว่าเคยใช้ทฤษฎีการ diff หรือ integrate หรือยังแต่เข้าใจว่ายังไม่เคยนะครับ อีกความรู้ที่ใช้คือการยกกำลัง ถอด root เพราะต้องใช้หา cagr และหา DCF แบบง่ายๆ
จริงแล้วไม่มีใครอ่อนเลขมากกว่าคนอื่นมากมายหรอกครับ แต่อาจจะมีอุปสรรคระหว่างการเรียนรู้ในอดีตบางอย่าง เช่น หากเรียนเลขไม่รู้เรื่องเพียงปีเดียวอาจจะส่งผลต่อระยะยาวได้เลยเพราะเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตต่อ ยกตัวอย่าง ถ้าใครบวกลบเศษส่วนไม่เป็นคงจะไม่สามารถแก้สมการได้แน่
ผมเองก็ไม่ใช่คนเก่งคณิตศาสตร์มากมายครับ จนตอนเรียนปริญญาตรียังคิดว่าผม IQ จะต่ำกว่าเพื่อนซักกี่ % เนี่ย กว่าจะได้ C แต่ละวิชาคำนวณก็เหนื่อยยากอยู่พอควรครับ ( C สำหรับผมเปรียบเหมือนตีกอล์ฟก็คือการเซฟพาร์ครับ )
แต่วิชาที่ผมสนใจและทำได้ดีคือกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และที่ค่อนข้างพอได้คือเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ถ้ารู้หลักการเรียนจะเป็นวิชาที่สอนให้เราคิดในเชิง qualitative หรือเชิงคุณภาพ ในคณะที่คณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์สอนให้คิดเชิงปริมาณ หรือ quantitative ซึ่งในกา รลงทุนผมรู้สึกว่าผมใช้การคิดในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณครับ ส่วนวิชา behavior finance นั้นก็เป็นการนำเรื่องเชิงปริมาณคือ finance มาประยุกต์กับเรื่องทางคุณภาพ คือ จิตวิทยา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเรื่องการลงทุนไม่ใช่ pure finance แน่นอนครับ
ส่วนเรื่องหลักสูตรนี้ผมไม่ทราบว่าน่าสนใจหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าเราสนใจจะเรียน เรื่อง calculus เป็นภาษาอังกฤษนั้น ถ้าอยากเรียนหลักสูตรนี้จริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งครับแต่เป็นอุปสรรคที่น่าจะผ่านไปได้ครับ ไม่มีอะไรเกินไปกว่าความพยายามของมนุษย์ครับถ้าเราพยายามเพียงพอ สมองคนเราไม่มีขีดจำกัดในการเรียนรู้เพียงแต่คนส่วนใหญ่ใช้ศักยภาพสมองเพียง 10-20% เท่านั้นครับ
9.ถ้าเทียบระหว่างวิชา marketing accounting economic finance คุณ ih คิดว่า
อะไรสำคัญต่อการลงทุนที่สุดครับ และการเรียน mba ช่วยสนับสนุนการลงทุนแบบ vi ได้มากน้อย
แค่ไหน ที่ถามเพราะว่า เพิ่งเรียนจบน่ะครับ ช่วงนี้ยังสับสนกับทางเลือกของตัวเองอยู่
- ไม่เรียน mba ก็เป็น vi ที่ดีได้ครับ ที่สำคัญที่สุดคือ Learn how to learn, Learn how to think ครับ ดังนั้นคิดว่าหลักสูตรที่ไหนที่สอนหรือมีกิจกรรมที่เอื้อให้เรามีความคิดเชิงระบบที่ดี หลักสูตรนั้นก็น่าสนใจครับ สำหรับเนื้อหาที่ถามมาคือ marketing accounting economic finance อะไรสำคัญที่สุด ผมคิดว่าเป็น economic ครับ แต่ส่วนที่อาจจะไม่สำคัญที่สุดแต่ขาดไม่ได้คือ accounting ครับ ยังไง vi ก็ยังต้องอ่านงบการเงินให้เป็นครับ
ส่วนที่ทำไมคิดว่า economic สำคัญที่สุด เพราะเป็นวิชาที่ใช้ความคิดเยอะ และถ้าเรียนให้เป็น จะทำให้มองเห็นภาพใหญ่ได้ดี เป็นวิชาที่ไม่มีอะไรผิดไม่มีถูก สามารถ discuss กันได้ด้วยเหตุผลและทฤษฎีต่างๆ และสอนเรื่องหลักของ demand supply ซึ่งเป็นหลักที่ไม่ยากเลย แต่สามารถใช้ได้บ่อยไม่รู้กี่ครั้งในชีวิตหลังจากเรียนจบไป ทฤษฎี econ ที่ผมใช้หลังจากเรียนจบก็คือ econ 101 นั่นแหละครับไม่เคยใช้ซับซ้อนกว่านั้น เส้น IS LM ลืมหมดแล้ว ยิ่ง econometric model ไม่ต้องพูดถึงเลยครับฝันร้ายสำหรับผมชัดๆ
ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านบัญชีการเงิน การเรียน MBA น่าจะช่วยเรื่องนี้ได้ครับ แต่ช่วยได้แค่เป็นรากฐานหรือพื้นฐานเพื่อนำไปต่อยอดต่อไปนะครับ
ส่วนความเห็นของผม หากใครรู้เรื่องการเงินและบัญชีดีอยู่แล้ว การเรียน MBA ในหลักสูตรที่มีคุณภาพดี จะได้เรียน case ต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การตลาด การบริหาร ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคตได้ครับ และเราเลือกคบเพื่อนที่เป็นคนดี ( ไม่ต้องเก่งหรือรวยก็ได้ ) เราก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคตได้ครับ
แต่ตอนนี้ผมศึกษาประวัติศาสตร์ครับ โดยเฉพาะเรื่องสงคราม การเมืองในอดีต เพราะเนื้อหา MBA หลายๆ วิชา เช่น Marketing strategy , Logistic ก็มีรากฐานมาจากทางการทหารทั้งนั้นครับ
10.ตกลงหุ้น 8 โมงเช้าวันอังคารนี้ตัวไหนเหรอครับ พอบอกชื่อหุ้นเป็น และเหตุผล
ที่ไม่เป็นไปถามที่พี่ ih คิด case study ให้น้องๆฟังบ้าง
ได้ไหมครับ
- คนอ่านหลายร้อยคนนะครับเนี่ย ปกติใน webboard ผมคงจะระบุหุ้นรายตัวในเชิงลบตรงๆ ไม่ค่อยได้ เพราะผมมีสิทธิที่จะเข้าใจผิด แต่หุ้นหรือบริษัทที่ผมระบุถึงนั้นเค้าไม่มีโอกาสมาชี้แจง แต่ทุกๆ ปีผมก็มีหุ้นที่วิเคราะห์พลาดอยู่แล้วครับ
เล่า case ที่กลางๆ แล้วกันนะครับที่ไม่เกี่ยวกับผู้บริหาร เป็นความผิดพลาดของผมอย่างหนึ่ง อย่าง 2-3 ปีก่อน น้ำอัดลมขวดหนึ่งได้ปรับราคาขึ้นขวดละ 1 บาท เพราะน้ำตาลเพิ่ม กก. ละ x บาท ( จำไม่ได้ ) ซึ่งเราก็คำนวณแล้วว่าราคาที่ปรับนั้นได้มากกว่าต้นทุนน้ำตาลเยอะ เพราะผมก็มานั่งคำนวณว่าต่อขวดต่อกระป๋องใช้น้ำตาลกี่กรัม และเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ต่อขวดต่อกระป๋อง ซึ่งตัวเลขออกมาก็เหมือนน่าจะทำให้กำไรกระโดดได้ ท้ายสุดกำไรก็แทบไม่โต กำไรหายไปไหนได้อย่างไร แต่ตอนนั้นผมโทรไปคุยผู้บริหารเค้าก็ดีนะครับเค้าก็บอกว่า net net แล้วการปรับราคาก็ปรับตามต้นทุนที่เพิ่มแค่นั้นเอง ซึ่งตอนนั้นผมก็งงๆ ว่ามันเป็นไปได้ยังไง สุดท้ายงบออกมา 2-3 ไตรมาสแล้วกำไรก็ยังนิ่งๆ สุดท้ายหลังขายหุ้นไปก็นั่งคิด ก็เป็นไปได้ว่าทางบริษัทอาจจะขอ supplier อื่นๆ เช่น ผู้ผลิตขวด ว่าจะปรับราคาซื้อให้หลังได้ปรับราคาจากกระทรวงพาณิชย์ ก็เลยอาจจะทำให้ต้นทุนที่เพิ่มช่วงนั้นไม่ใช่แค่ค่าน้ำตาล มีทั้งค่าขวดและค่าอื่นๆ หลายอย่าง แต่ case นี้ผู้บริหารเค้าก็ ok ครับและช่วย tone down ให้เราไม่มั่นใจในข้อมูลเราเกินไปด้วยครับ
อีกตัวหนึ่งเป็น รพ. ที่แพทย์หลายๆ คนมองว่าเป็นโรงพยาบาลนี้เป็น รพ. ที่ fair ให้ผลตอบแทนดีคุ้มค่า และมีบริการที่ดีประทับใจลูกค้าในระดับหนึ่ง ดูแล้วมีจริยธรรมการบริหารดีครับ สถานที่ก็ดูสะอาดและสบายตามีการตกแต่งใหม่ เป็น รพ. ดีจริงๆ ครับถ้าผมอยู่ละแวกนั้นก็คงจะไปใช้บริการ รพ. นี้แหละครับ แต่เนื่องจากการอยู่นอกเมืองไปตามจังหวัดลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลอง และมีคนไข้ประกันสังคมที่มาใช้บริการจริงจำนวนมาก ผลก็คือ กำไรลดลง 2 ปีติดกันทั้งๆ ที่รายได้ก็เติบโต ถ้ามองในแง่ดีก็คิดว่าผมบริจาคเงินช่วย รพ. ที่มีสถานะเป็นกึ่งๆ มูลนิธิไปแล้วกันครับ ก็เป็นข้อคิดสำหรับผมว่า รพ. ที่รับประกันสังคม ไม่ควรอยู่นอกเมืองเกินไป ควรอยู่ในเมืองที่จะได้คนไข้บางส่วนที่เป็นสมาชิกแล้วไม่มาใช้บ้าง แต่ถ้าอยู่นอกเมืองคนไข้ส่วนใหญ่จะมาใช้กันเยอะ แต่ตัวนี้ผู้บริหารก็บอกตอนเจอผมตั้งแต่แรกแล้วครับว่าเค้าไม่ได้ maximize profit ( คราวหน้าผมต้องถามไปเพิ่มว่าแล้วจะ minimize ด้วยรึเปล่า ) แต่ตอนนั้นที่ซื้อเห็นราคาต่ำกว่า replacement cost เยอะและภาพรวมธุรกิจดี
ดังนั้นหุ้นที่เล่ามายังไม่เข้าข่าย 8 โมงเช้าวันอังคารเลยครับ : )
11.รอบนี้ขอ commend หุ้นอสังห อย่าง mjd หน่อยนะครับ
มีประเด็นดังนี้นะครับ
11.1
งบในไตรมาสแรกกำไรโตถึง 150% โดยที่ปันผล 6-7%
ปีที่แล้วจ่าย xd 0.25 ราคาหุ้นยังอยู่แถวๆ 4 บาทต้นๆ
(กลางเดือนพฤษภาคม) และ presale ไครมาสแรก 1705
ซึ้งเป็น 43% ของเป้าหมาย presale ปีนี้ของเขาที่ 4000 ล้าน
-และ presale ของไตรมาส 1 ที่ 1700 ล้านยังเป็น 60% ของ
Presale ทั้งปีที่แล้ว ดูๆไปก็สูงทั้ง presale และ กำไร และยัง
มีปันผลที่สูงอีก pe ประมาณ 6-7 เท่า (กำไรปีนี้ซัก 480-520)
- ขั้นแรก ลองดูหลักบัญชีเค้าก่อนครับ ว่าเค้ารับรู้รายได้เมื่อโอน หรือตาม % ของงานที่เสร็จ ถ้ารับรู้เมื่อโอน รายได้ที่รับรู้ก็เป็นรายได้จริงๆ ที่ขายออกไปและโอนให้ลูกค้ารับเงินเข้ามาจริงๆ แต่ถ้าเป็นวิธีตาม % ของงานที่เสร็จ จะรับรู้เมื่อสร้างและรับเงินลูกค้าถึงระดับหนึ่ง แต่เงินจะไม่เข้ามาจริงแต่ทยอยรับรู้รายได้ไปแล้ว กรณีเป็น % ของงานที่เสร็จ การบันทึกต้นทุนแต่ละไตรมาสจะต้องใช้วิธี allocate cost ซึ่งมีโอกาสที่จะประเมินต้นทุนผิดเพี้ยนไปได้ในระดับหนึ่งครับ
แต่ประเด็นคือผมไม่ค่อยแน่ใจในการจับตลาดของเขาและคุณภาพต่างๆ
ของโครงการของเขาก็เลย อยากถามคุณ ih เกี่ยวกับ project ต่างๆของ
Mjd และ ราคาหุ้นตอนนี้ส่วนตัวผมมองว่า undervalue ระดับนึง
(เชิงปริมาณ)
- การจับตลาดก็เท่าที่สังเกตจะจับตลาดกลางบน ประมาณ B+ A แต่ยังไม่ไปถึง A+ การเลือกทำเลในโครงการแรกๆ ก่อนเข้าตลาดหุ้นก็นับว่าใช้ได้ แตทำเลหลังๆ เช่น ตรงรัชโยธิน ผมไม่แน่ใจว่าจะไหวไหม เพราะราคาขายค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับทำเล สิ่งที่อาจจะน่าห่วงสำหรับ MJD คือเรื่องการแบ่ง portfolio เพราะเป็นคอนโดฯ แทบจะทั้งหมด ดังนั้นน่าจะมีการกระจายความเสี่ยงที่แย่กว่าหุ้นอสังหาฯ ตัวอื่นๆ นอกจากนี้ การมีแต่ port คอนโดฯ จะทำให้ใช้ working cap ค่อนข้างสูงเพราะมีระยะเวลาการก่อสร้างนานกว่าโครงการแนวราบ และเท่าที่เห็นโครงการคอนโดฯ ส่วนใหญ่ของ MJD จะเป็นโครงการตึกสูงกว่า 25 ชั้น ซึ่งจะสร้าง 2-3 ปี ในขณะที LPN แม้จะทำคอนโดฯ หมดก็ตามแต่มีโครงการประเภทที่สูง 8 ชั้นซึ่งใช้เวลาสร้างน้อยกว่าคือประมาณ 1 ปี ดังนั้นถ้า p/e 6-7 เท่า ก็หมายความว่าถ้าซื้อราคานี้ MJD ต้องขายคอนโดฯ ได้ดีและรับรู้รายได้และกำไรได้ประมาณปีนี้อีกประมาณ 6-7 ปี และอีกคำถามหนึ่งก็คือ MJD จะมีการเติบโตของรายได้ได้อย่างไรบ้าง และการเติบโตของหุ้นที่ทำโครงการแนวสูงอย่าง MJD ซึ่งต้องใช้ working cap มากจะทำให้ D/E สูงเกินไปหรือไม่ครับ
12.ต้นทุนเหล็กที่ขึ้นมาจะมีผลต่อ developer เช่น mjd spali ps อย่างไร
บ้าง
- เท่าที่เคยเห็นจะอยู่ประมาณ 4-5% ของต้นทุน แต่ตัวเลขนั้นผมไม่ค่อยแน่ใจลองหาทางตรวจสอบอีกทีครับ ดังนั้นก็อาจจะชดเชยกับมาตรการภาษีที่รัฐให้ 4.3% พอดีครับ โดยโครงการคอนโดฯ จะมีสัดส่วนการใช้เหล็กสูงกว่าโครงการแนวราบมากอย่างมีนัยสำคัญครับ
13.คุณ ih ไม่ลงทุนในหุ้นอเมาริกาเช่น google ebay บ้างหรือ ไม่แน่ใจว่าอีก
หน่อยในเมืองไทยน่าจะออกกฏให้คนไทยไปลงทุนเมืองนอกได้โดยไม่ต้อง
ไปเปิดบัญชีไกลถึงต่างประเทศ
- บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไม Carrefour เมืองไทยถึงทำได้แค่นี้คือ เป็นที่ 3 รองจาก Lotus และ BigC ทั้งๆ ที่ Carrefour ในระดับโลกนั้นเป็นอันดับ 2 รองจาก Walmart ดังนั้นการทำอะไรให้ได้ดี จะต้องทุ่มเท resource ลงไปครับ อย่างผู้บริหาร Carrefour ที่ส่งมาเมืองไทยเทียบกับที่ส่งไปประเทศจีนที่ Carrefour ประสบความสำเร็จก็อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ การที่จะไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มอีก 1 ประเทศนั้นเราก็ต้องรู้จักประเทศนั้นๆ บริษัทนั้นๆ กลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ดีพอๆ กับที่เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ขณะลงทุนที่เมืองไทยครับ ดังนั้น resource ที่เรามีจำกัดที่สุดก็คือ " เวลา " ครับ
ตลาดประเทศพัฒนาแล้วก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูงกว่าเราและผู้เล่นหลักเป็นนักลงทุนสถาบัน ในขณะที่ตลาดบ้านเราผู้เล่นหลักยังเป็นรายย่อย ดังนั้นคู่ชกของเราก็คนและรุ่นกัน ของบ้านเค้าเป็นพวกกองทุนก็เหมือนมวยรุ่นใหญ่ หมัดหนัก ท่วงท่าลีลาดีเพราะซ้อม ( หาข้อมูล ) มาเยอะ แม้จะชอบตามแห่หรือขี้ตกใจบ้าง ของบ้านเราส่วนใหญ่เป็นรายย่อยก็มีบางอย่างร่วมกันคือขี้ตกใจและตามแห่ แต่หมัดเบากว่าและซ้อมน้อยกว่า ดังนั้นโดยเปรียบเทียบแล้วเราจะมีความเสียเปรียบหลายๆ อย่าง ทั้งความอยู่ไกลบริษัทที่เราลงทุนและเรื่องข้อมูล แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างประเทศก็น่าสนใจแต่ไม่ใช่เป็นเรื่องการหาหนทางเพิ่มผลตอบแทน แต่น่าจะเป็นเรื่องการกระจายในการลงทุน เพราะแม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศไทย เราจะมีการกระจายความเสี่ยงดีเพียงใด แต่ความเสี่ยงหนึ่งที่ยังไม่สามารถกระจายได้คือ country risk หรือความเสี่ยงของประเทศเรานั่นเองครับ และเป็นความเสี่ยงที่เรามักจะรู้สึกเบื่อเวลาเป็น TV หรืออ่านข่าวหนังสือพิมพ์ครับ
คำถามสนุกๆ ครับ
Not agree with any Government policy Organisation
ประโยคนี้มีชื่อย่อว่าอะไรครับ ?
14.makro ขยายสาขาตั้ง 40% แต่ว่ากำไรโต 20% กว่า
เป็นเพราะสาขาใหม่ๆกินเหนือที่กันเองใช่หรือไม่เพราะว่า
ลูกค้า makro ชอบขับรถข้ามจังหวัดไปซื้อของ
ถ้าเปิดติดๆจังหวัดกันมากๆ ไม่แน่ใจยอด sss จะเป็นอย่างไร
และแปลกใจที่ทำไม cpall เปิดสาขาติดกันมากๆแต่ยอด
sss ถึงโตได้ดี
สาขาที่ขยาย 12 สาขา นั้นเป็นสาขาต่างจังหวัดทั้งหมด และเป็นจังหวัดขนาดกลางและเล็ก ซึ่งยอดขายของสาขาใหม่ในต่างจังหวัดนั้นจะต่ำกว่าสาขาที่มีอยู่เดิม 29 สาขา ซึ่งอยู่ในกทม. และจังหวัดใหญ่ๆ อยู่ถึงประมาณครึ่งหนึ่งครับ
หากดู same store sale หรือ sss ไตรมาส 1 ของ Makro ยังโตอยู่ประมาณ 5% ครับ ซึ่งหลักๆ โตมาจากลูกค้ากลุ่มที่เป็นร้านอาหาร ภัตตาคารและโรงแรม ส่วนสาขาที่อาจจะมีการกินกันเองบ้าง เช่น แถวๆ โซน สุรินทร์ ศรีสะเกษ หรือ เชียงใหม่กับลำพูน นั้นก็มีบ้าง แต่โดยรวมแล้ว 1+1 แม้จะไม่เท่ากับ 2 เพราะมีการกินกันเองบ้าง แต่แล้วเท่ากับ 1.8 ก็ยังดีกว่าไม่เปิดสาขาครับ
สำหรับ 7-11 นั้นแตกต่างจากร้านค้าปลีกอื่นๆ ครับ อย่าง bigC Makro ถ้าเราขับรถผ่านแต่ไม่มีอะไรต้องซื้อก็จะไม่เข้าไป แต่สำหรับ 7-11 ถ้าเราเดินผ่านแล้วเห็น บางดีเหมือนเราจะถูกดูดเข้าไปคือเข้าไปดูว่าเผื่อมีอะไรน่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือของกินเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้นสาขาใหม่ๆ ของ 7-11 แม้ว่าจะติดกันแต่ก็ทำให้การเข้าถึงง่ายขึ้นก็เลยทำให้มีเรื่องกินกันเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นครับ ดังนั้นถ้าไม่สนว่าผู้ถือกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 7-11 เป็นใคร 7-11 ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจอย่างแน่นอนครับ
No comments:
Post a Comment