1.หุ้นในกลุ่มบันเทิงอย่าง work ซึ้งเป็นผู้ผลิตรายการนั้นไม่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวใช่ไหมเพราะธรรมชาติของคนต้องการความแปลกใหม่เสมอ
1.2ถ้ามีรายการที่โดนใจคนดูเกิดขึ้นเราควรจะหาจังหวะขายหุ้นทิ่งหรือไม่เพราะยากที่จะมีรายการใดที่อยู่ในกระแสความนิยมระยะยาวได้
1.3ผู้ผลิตรายการมีปัญหาอีกอย่างนึงก็คือต้องรักษาบุคลากรเก่งๆให้อยู่กับบริษัทได้
- ช่วงที่ WORK เข้าตลาดหุ้นก็เป็นช่วงที่ WORK ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง โดยครองส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูงในส่วนของรายการประเภทเกมโชว์และ variety จุดเด่นของ WORK อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเกมโชว์และรายการต่างๆ และความสามารถของพิธีกร
แต่หลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้วไม่สามารถก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่งได้ และก็ต้องยอมรับว่าการที่ WORK จะโตจากระดับที่เข้าตลาดหุ้นก็ทำได้ลำบากครับเพราะตลาดมีอยู่ได้เพียงตลาดในประเทศเป็นหลักเท่านั้น คงจะไม่เหมือนบริษัทด้านนี้ในสหรัฐที่สามารถขยายฐานผู้ชมได้ทั่วโลกครับ นอกจากนี้ WORK ณ ปัจจุบันยังคงพึ่งพาบุคลากรหลัก 2 คน คือ คุณปัญญาและคุณประภาส ซึ่งดูเหมือนว่าตอนนี้ยังขาดคนใดคนหนึ่งไปยังไม่ได้ เลยเหมือนหลอดไฟ 2 หลอดที่ต่ออนุกรมกันครับ คือ ถ้าหลอดใดหลอดหนึ่งขาดก็จะทำให้อีกหลอดดับไปด้วย ดังนั้น การที่หุ้นลง ธุรกิจ WORK ไม่ได้แย่หรือเลวร้ายครับ เพียงแต่เข้าตลาดช่วงที่ peak ของธุรกิจไปแล้วครับ อีกบริษัทที่เข้าตลาดช่วง peak และหลังเข้าตลาดแล้วธุรกิจแย่ลงไปมากคือ Matching ครับ เพราะไปทำธุรกิจที่ตนเองไม่มีความถนัดคือ การสร้างภาพยนตร์ครับ
2.หุ้น อสมท ควรมี pe สูงกว่า bec ใช่ไหมในแง่ที่เป็นเจ้าของคลื่นแต่ bec ต้องไปเช่าคลื่นจาก อสมท
2.2ถ้าแบบนี้หุ้น อสมท ก็ควรมี beta ต่ำกว่า bec เพราะว่ามีสัดส่วนรายได้ที่สม่ำเสมอกว่าใช่ไหม
- บังเอิญนักลงทุนประเภทสถาบันให้ p/e ของ bec สูงกว่าเพราะอาจจะเห็นว่า bec เป็น บ. เอกชน มีประวัติการบริหารที่ดีมายาวนาน และ mcot ก็มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลต่อธุรกิจและมีผลต่อผู้ที่จะมาเป็น ผู้อำนวยการ ครับ นอกจากนี้ หากตัดส่วนแบ่งค่าเช่าและสัมปทานจาก bec และ true vision ออกไปแล้วจะเห็นว่า mcot จะมีกำไรจากการดำเนินการธุรกิจหลัก ( ช่อง9 และรายการวิทยุ ) ไม่มากเท่าไหร่นักครับ ดังนั้นนักลงทุนส่วนหนึ่งอาจจะไม่แน่ใจว่ารายได้จากค่าสัมปทานจะมีอย่างต่อเนื่องแน่นอนในอนาคตครับ
2.3หุ้นกลุ่มนี้ถือว่ามี barry to entry การเข้ามาของรายใหม่ที่สูงหรือต่ำ เพราะว่า cable tv เถื่อนต่างๆไม่น่าจะใช้เงินลงทุนสูง
- ตลาด TV ประเทศไทยเป็นตลาด mass คือ ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน และคนไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เวลาแต่ละวันในการดู TV มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่กลับอ่านหนังสือน้อยกว่าประเทศอื่นมาก ดังนั้นตลาดรองอย่าง True vision หรือ เคเบิ้ลต่างๆ ยังครอบคลุมประชากรในกลุ่มที่ยังไม่มากนักครับ ดังนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการโฆษณาในระดับ mass จึงยังต้องเลือกโฆษณาทาง TV เป็นหลักอยู่ครับ ดังนั้นคู่แข่งทางตรงของ BEC MCOT ก็คือ Free TV ด้วยกันครับ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมี free TV ช่องใหม่เกิดขึ้นครับ
3.หุ้นโรงแรมเป็นหุ้นที่มีความน่าลงทุนต่ำเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง และ เมื่อสร้างโรงแรมใหม่กว่าจะเต็มได้ก็ต้องใช้เวลานาน แถมถ้าไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวก็ไม่น่ามีคนมาเยอะ จริงๆแล้วหุ้นกลุ่มนี้ไม่น่าจะมี pe ที่สูงกว่าตลาด
ไม่ทราบว่าพี่ ih มีความเห็นว่ายังไง
- ปกติคนทำธุรกิจโรงแรมเวลาทำ feasibility study หรือหา Project IRR จะใช้สมมุติฐานคนเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 50-70% ครับ คือ ต้องอยู่ได้แม้ occupancy จะอยู่เพียง 50% ซึ่งหมายความว่าจะมีช่วง high และ low season ดังนั้นคงจะต้องดูว่าที่ occupancy rate 60-70% หุ้นโรงแรมนั้นจะมีกำไรมากน้อยเพียงใดครับ จุดเด่นของ รร. คงจะเป็นเรื่องการเป็นธุรกิจที่สามารถตั้งราคาบริการหรืออาหารได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนครับ และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดจำนวนเข้าออกสนามบินหลักคือ สุวรรณภูมิ นั้นติด 1 ใน 20 ของสนามบินทั่วโลก ดังนั้นธุรกิจโรงแรมที่ผ่านมานับว่าเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลกครับ ที่ผ่านมาจึงมี p/e สูงกว่าตลาด เว้นเสียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานที่กระทบกับการท่องเที่ยวอย่างถาวรครับ
โรงแรมที่อยู่แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลจะน่าสนใจกว่า รร. ที่อยู่เขตภูเขาครับเพราะว่าช่วง low season ของแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลจะกินระยะเวลาน้อยกว่าและยอดเข้าพักไม่ต่ำลงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับรีสอร์ตที่ติดภูเขา เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวภูเขานั้นจะมี high เพียงช่วง ตุลาคม-กุมภาพันธ์ เท่านั้นครับ
4.2แต่ถ้าเป็นภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำมากหุ้นโรงไฟฟ้าน่าจะมี pe สูงกว่าตลาดใช่ไหม เพราะว่า ตอนทำสัญญาโรงไฟฟ้าก็มากกว่าดอกเบี้ยไปแล้ว พูดไปก็เปรียบเหมือน bond ระยะยาวที่ log ดอกเบี้ยสูงๆไว้แล้ว
- ใช่ครับ จะสังเกตว่าหุ้นอย่าง RATCH EGCO เหมือนจะ outperform ตลาดหลังการลดดอกเบี้ย 1% ครั้งที่ผ่านมาครับ หุ้นโรงไฟฟ้ามีลักษณะบางประการที่คล้าย bond อยู่ แต่ก็มีสิ่งที่ไม่เหมือนตรงที่สัญญาโรงไฟฟ้ามีอายุสัมปทาน 30 ปีซึ่งจะมีความเสี่ยงตรงตอนหมดอายุสัมปทานว่าจะได้ต่อในเงื่อนไขอะไร และโครงสร้างรายได้ของโรงไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานนั้นจะไม่ได้เป็นแบบ flat rate คือ จะสูงสุดในช่วงกลางๆ ของอายุสัญญาและจะน้อยลงในช่วงท้ายๆ หรือมีลักษณะเป็นโค้งระฆังคว่ำครับ
5.ทำไมธนาคารขนาดเล็กในไทยจึงมักถูก take over จากธนาคารต่างประเทศ ผมแปลกใจว่าทำไมธนาคารต่างประเทศเหล่านั้นถึงไม่มาตั้งสาขาเองเลย หรือว่ามีกฎหมายอะไรห้ามไว้หรือไม่ครับ ส่วนตัวผมมองว่า การ take over ไปก็ได้สาขา ได้ระบบที่ลงเอาไว้ ได้พนักงานเลยไม่ตอ้งไปเริ่มต้นจาก 0
- มีกฎ ของ ธปท. ที่ให้ธนาคารต่างประเทศเปิดสาขาได้เพียงสาขาเดียวครับ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าธนาคารต่างประเทศอย่าง HSBC ก็จะมีสาขาในประเทศไทยสาขาเดียว ผมไม่แน่ใจว่ากฎนี้ยังคงมีอยู่หรือไม่ครับ ส่วนที่มีการ take over สิ่งที่จะได้คือ สาขาและฐานลูกค้าครับ ส่วนพนักงานผมเองไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วเค้าอยากได้ด้วยหรือเปล่า เพราะธนาคารขนาดเล็กหรือกลางที่ถูก ธ. ต่างชาติซื้อไปก็มีการปรับโครงสร้างองค์กร หรือ early retired อยู่พอสมควรครับ
6.หุ้นอย่าง tcap และ tisco จะมีความสัมพันธ์กับ gdp สูงกว่าหุ้นแบงค์ขนาดใหญ่ ใช่หรือไม่ เพราะว่าสองตัวนี้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์เยอะ ซึ้งยอดขายรถยนต์สัมพันธ์กับ gdp สูง
- น่าจะเป็นเช่นนั้นครับ แต่ก็แปลกที่ tisco ก็ยังมี NPL ค่อนข้างต่ำและยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารครับแสดงว่ามีการบริหารลูกหนี้ที่ดี แต่ปีหน้า loan growth น่าจะติดลบจากยอดขายรถที่แย่ลงครับ แต่การลดดอกเบี้ยจะส่งผลดีกับหุ้นที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ครับเพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ในขณะที่ฝั่งรายได้คือ ดอกเบี้ยเงินกู้นั้นไม่ลดลง เพราะการผ่อนรถเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ครับ
7.ผมได้ยินนักวิเคราะห์ท่านนึงบอกว่าหุ้นธนาคารตอนนี้ถูกมาก โหยเขาใช่วิธี
p/bv valuation เขาให้เหตุผลว่า สมัยวิกฤติปี 40 หุ้นธนาคารยัง trade ที่ pbv ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า แต่ตอนนี้หุ้นธนาคารหลายตัวต่ำกว่า bv มาก
เขาบอกว่าเขาไม่ใช่ pe เพราะว่า manipulate ง่าย จากการ provision
แต่ประเด็นคือ bv จะมีคุณภาพหรือไม่ เพราะคงยากที่จะไปวิเคราห์ว่า สินเชื่อที่เขาปล่อยกู้มีคุณภาพไหม ไม่ทราบว่ามีมุมมองอย่างไร นักวิเคราห์ท่านนั้นยีงบอกต่อไปอีกว่าตอนนี้หุ้นธนาคารสะท้อนข่าวร้ายไปหมดแล้ว
- p/bv อาจจะสูงขึ้นหากเศรษฐกิจถดถอยหนักจนทำให้ธนาคารบางแห่งอาจจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจากการตั้งสำรอง NPL ครับ ดังนั้น p/bv ตอนนี้สำหรับบางธนาคารจึงอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าต่ำและถูกจนต้องรีบร้อนเข้าไปซื้อครับ และการถือหุ้นธนาคารนั้นเรารู้ข้อมูลน้อยมากครับโดยเฉพาะคุณภาพของลูกหนี้และการปล่อยสินเชื่อครับ
8.มีคนบอกว่าหุ้นkk ในปี 43 วิ่งจาก 2 บาทไป 80 บาทอยากให้พี่ ih ช่วยเล่าใหัฟังหน่อยว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าผมหาขัอมูลเรื่องนี้ไม่ได้เลย เรื่องมันต้อง 8-9 ปีมาแล้ว
- ในปี 40 มีการปิดกิจการ 58 ไฟแนนซ์ครับ แต่ในปี 42 มีเพียง 2 ไฟแนนซ์จาก 58 แห่งที่ถูกปิดสามารถดำเนินการต่อได้คือ KK และ ACL ดังนั้นหลังจากปลด SP แล้ว KK ก็สามารถเพิ่มทุนได้ทำให้พ้นขีดอันตราย และ KK สามารถเข้าประมูลหนี้จาก ปรส. มาบริหารได้จำนวนพอสมควรเลยครับ ทำให้กำไรดีขึ้นมามาก ประกอบกับปี 42 ตลาดหุ้นขึ้นจาก 300 จุดไป 500 กว่าจุด หุ้น KK จึงวิ่งยาวเลยครับ
เกณฑ์ในการเลือกปิดกิจการสถาบันการเงินตอนนั้นทางการใช้จำนวนและสัดส่วนที่สถาบันการเงินต่างๆ กู้ยืมเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ ครับ เลยทำให้สถาบันการเงินบางแห่งที่อาจจะไม่ได้ขาดสภาพคล่องหนักหรือมีปัญหาทางการเงินยากเกินเยียวยานั้นถูกปิดไปด้วยครับ
8.2แล้ววิกฤติรอบนี้น่าจะเป็นโอกาสในการซื้อ kk-w3 หรือไม่
ถ้าดูจากคำตอบข้อ 8.1 แล้วจะเห็นว่าสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการครับ และตอนนั้นราคา KK คือ 2-4 บาท แต่ KK-w3 ยังเกิน 4 บาทอยู่เลยครับ และดูเหมือนจะเป็น warrant มีอายุคงเหลืออีกไม่มากแล้วนะครับ เกรงว่าเศรษฐกิจจะฟื้นไม่ทัน warrant หมดอายุเสียก่อนครับ
9.นักวิเคราห์บางคนเชียร์หุ้นกลุ่มสื่อสารโดยให้เหตุผลว่า ตลาดมือถือเดิมนั้นอยู่ในขั้นอิ่มตัวแล้วโดยดูจาก ยอด penetration rate ที่ 93% นักวิเคราะห์ท่านนั้นให้เหตุผลว่า 3 g จะเป็น structural change ของกลุ่มสื่อสารโดยมีเหตุผลคร่าวๆดังนี้
-สัปทานเดิมของ 3 เจ้าใหญ่ที่ใกล้หมดอายุ ถ้าทำ license 3g ออกมาน่าจะมีอายุของ 3g ภายใต้สัมปทานใหม่ต่อปีอีก 30 ปี ถ้าสมมุติ 3g เริ่มลงทุนได้ปีหน้า ก็น่าจะหมดอายุประมาณปี 2582
ปกติที่ผมเห็นเวลานักวิเคราะห์คำนวณ DCF จะทำ terminal value คือ สมมุติว่าได้ต่อสัมปทานหลังหมดอายุสัมปทานอยู่แล้วด้วยเหมือนกันครับ คำถามที่ผมเองยังไม่มีเวลาหาคำตอบ คือ ทั้ง AIS DTAC และ TRUE จะสามารถได้รับสัมปทาน 3G ทั้ง 3 บริษัทเลยรึเปล่าครับ หรือต้องประมูลแข่งกันและมีบางบริษัทเท่านั้นที่ได้ไป คุณ Hong ทราบไหมครับ?
-ทุกวันนี้ 3 ค่ายใหญ่เสีย revenue sharing ประมาณ 25-30% แต่ถ้าทำ license 3 g น่าจะเสีย ลดลงมากสุดไม่น่าเกิน 17%
อย่างนั้นเลยเหรอครับ และหน่วยงานรัฐที่ได้ค่าสัมปทานน้อยลงจะตอบคำถามประชาชนและสหภาพอย่างไรครับ พอจะมีที่มาของข้อมูลนี้ไหมครับ?
-จะได้เพิ่มสัดส่วนรายได้จาก non-voice มากขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าจะ
Create demand ใหม่ขึ้นมา
- ตอนนี้เราก็เป็น 2.5G อยู่แล้ว คือ มีการส่งภาพได้ในระดับหนึ่งผ่าน sms และ mms แต่ 3G น่าจะทำให้มีความสะดวก และรวดเร็วขึ้น แต่ผมคิดว่าตลาดมือถือเราตอนนี้เป็น mass แล้วครับ กลุ่มคนที่จะใช้ประโยชน์จาก 3G นั้นน่าจะอยู่ในวงที่ไม่มากนักครับ เพราะแม่ค้า คนงาน เกษตรกร คงไม่น่าจะสนใจหรือมีงบประมาณที่จะมา download ดูหนังหรือส่ง VDO ผ่านมือถืออะไรเท่าไหร่ครับ
อยากทราบมุมมองพี่ ih ว่าจะ change จริงไหมครับ structure
- ผมมองเพียงแค่เป็นพัฒนาการครับ แต่ไม่น่าจะทำให้ change อะไรมากครับ เว้นเสียว่าหากต้องลงทุนสูงๆ เช่น เป็นหมื่นล้าน แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก non-voice ไม่มากเท่าที่คิด ก็อาจจะทำให้พื้นฐานหุ้นกลุ่มนี้ change ในทางแย่ลงได้ครับ คุ้นๆ ว่าผมเคยอ่านข่าวว่ากำไรของ บ. มือถือในยุโรปแย่ลงเพราะแย่งกันประมูล และลงทุนใน 3G ในจำนวนเงินที่สูง ลองตรวจสอบข้อมูลนี้ดูนะครับ
10.ไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่หุ้นกลุ่มสื่อสารแข็งแกร่งกว่าตลาดเยอะมากจะเป็นเพราะมีข่าว 3 g หรือไม่ ดูแล้วหลายตัว pe ก็แพงแต่ราคาแข็งกว่าหุ้นค้าปลีกกับโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ผมดูแล้วก็ไม่เข้าใจเหตุผลเหมือนกัน
ส่วนหนึ่งผมคิดว่า มือถือตอนนี้ถือว่าเป็นบริการที่มีความจำเป็นสูง และต้องซื้อบริการทุกวัน เปรียบได้กับปัจจัย 4 ประเภทอาหาร และยารักษาโรคไปแล้วครับ อย่างเสื้อผ้า บ้านแม้ยังต้องใส่ต้องอยู่อาศัยแต่ก็ชะลอการซื้อไปได้นาน แต่มือถือเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถยกเลิกการใช้ได้ครับ ผมเห็นเศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็ยังมีคนส่ง sms ไปตามรายการ TV ต่างๆ และดูจากข้อความที่ส่งไปแล้วผมรู้สึกว่าความคุ้มค่าเทียบกับเงินที่เสียไปครั้งละ 3 บาทนั้นมันน้อยมาก จน โน๊ต อุดม เอาไปแซวในเดี่ยวไมโครโฟน 7 ที่มีคนส่ง sms ไปในรายการข่าว TV ว่า “ ลำปางหนาวมาก “ อยากรู้มั้ยเนี่ย? เพียงแต่คนที่ส่งอาจจะเห็นว่ามันก็แค่ 3 บาทซึ่งเงิน 3 บาทจะซื้ออะไรได้อะไรทำนองนี้มั้งครับ และคนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนที่อายุไม่มากนักและส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนที่หาเงินใช้เอง
11.หุ้น property หลายตัวที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าเลิกกิจการ เช่น
ถ้าใช้งบ 3q08 ap เอา current asset – total liability เหลือ 5668 แต่ market cap ที่ราคา 1.72 นั้นมีแค่ 4015 ซึ้งจะเรียกว่าต่ำกว่ามูลค่าเลิกกิจการก็คงจะได้(ไม่รู้ว่าเรียกว่าต่ำกว่ามูลค่าซากได้ป่าว)
ส่วน ps ใช้วิธีเดียวกันได้ส่วนต่างออกมา 7505 ซึ้งถ้าเทียบกับ market cap ที่ราคา 3.30 7582 ก็ถือว่าพอๆกับมูลค่าตลาด
ส่วนตัวมองว่าหุ้นสองตัวนี้มีผู้บริหารที่มี vision สูง และมีการทำกำไร
ในหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี มีฐานะเป็นผู้นำตลาด
แต่กลับซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าเลิกกิจการ
มันจะไม่ถูกเกินไปหน่อยหรือครับ
ไม่ทราบว่าแนวคิดนี้มีจุดอ่อนอะไรไหมครับ
- คงเป็นมุมมองได้ว่าหุ้นตัวนี้ ณ ราคาที่พูดถึงนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกสำหรับการลงทุนในระยะยาวๆ เพียงแต่ในระยะสั้นๆ 1-2 ปีนี้ หากเราซื้อ AP ทั้งบริษัท หรือผู้บริหารมีความคิดที่จะเลิกกิจการด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในมือทั้งหมดและไปคืนหนี้ แล้วนำเงินที่เหลือทั้งหมดไปคืนผู้ถือหุ้นนั้น ก็ยากที่จะได้มูลค่า 5668 ล้านครับ เพราะราคาสินทรัพย์ในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจแย่ๆ นั้นอาจจะขายได้ต่ำกว่ามูลค่าที่อยู่ใน book ได้ครับ ถ้าเป็นสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ ถ้าเป็นทำเลดีๆ ยังพอที่จะขายได้ราคาใกล้เคียงกับ book แต่ถ้าเป็นโรงงานหรือเครื่องจักร หรือสินทรัพย์ประเภทลูกหนี้การค้า สิ่งที่ได้กลับมาอาจจะต่ำกว่า book ได้ครับ
ผมยกตัวอย่าง มีบริษัทหนึ่งในกลุ่มเครื่องจักรกล ตอนนี้เหมือนว่าออกจากตลาดไปแล้วชื่อ TEM ( Thai engine manufacturing ) ทำเครื่องไถนายี่ห้อมิตซูบิชิ ที่เคยมีโฆษณาดังๆ ตอนก่อนถูก SP มี Bv 60 กว่าบาท และหุ้น ซื้อขายกันที่ 3-4 บาท โอ้โห้ p/bv 0.05 เท่าแน่ะครับ ปรากฎว่าสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้การค้า ท้ายสุดแล้วตามเก็บหนี้ไม่ได้ สินทรัพย์หมุนเวียนเลยหายวับไปกับตา ในขณะที่หนี้สินยังคงอยู่ หุ้นจึงต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการไปเลยครับ
หุ้นอีกตัวที่เคยมี bv สูงมากๆ และ p/bv ต่ำมาก และ p/e ก็ต่ำมาก เป็นกับดักหุ้น value หรือ value trap อย่างแท้จริง คือ หุ้นในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ รายการใหญ่ของสินทรัพย์หมุนเวียน คือ ลูกหนี้การค้า ซึ่งท้ายสุดแล้วผู้สอบบัญชีพบว่าลูกหนี้การค้าที่แจ้งไว้นั้นไม่ได้อยู่ตามที่บริษัทให้ข้อมูลไว้ จนท้ายสุดดูเหมือนจะต้องมีการตั้งสำรองทั้งจำนวน ซึ่งท้ายสุดทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบและเข้าแผนฟื้นฟูตามระเบียบครับ
หุ้น prop อีก 2 ตัว แต่ไม่ใช่ตัวที่คุณ Hong พูดถึงนะครับ อยู่ในตลาดมานานเหมือนกันและผู้บริหาร 2 บริษัทนี้ก็เป็นญาติกัน แต่มีที่ดินหลายแปลงอยู่ต่างจังหวัดและมีโครงการอยู่ชานเมืองที่ปีหนึ่งขายได้ไม่กี่หลังแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่มากมีสนามกอล์ฟ ดังนั้นที่ดินเหล่านี้ถ้าขายออกไปน่าจะได้ราคาต่ำกว่า book ค่อนข้างจะมากแน่นอนครับ
และการปิดกิจการจริงๆ คงไม่ได้ทำง่ายๆ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานจำนวนมากๆ เราอาจจะเห็นตัวอย่างแล้วนะครับบางบริษัทเพียงแต่แค่จ่ายโบนัสลดลงจาก 4 เดือนเหลือไม่กี่พันบาท ยังประท้วงกันถึงปิดถนน ประสาอะไรกับถ้าหากมีการปิดกิจการแล้ว lay-off พนักงานออกในช่วงนี้จริงๆ เรื่องใหญ่แน่ๆ ครับ ดังนั้นวิธีการคำนวณนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับธุรกิจที่เป็นโรงงานครับเพราะมูลค่าหากเลิกกิจการนั้นจะลดลงไปมากหากจะต้องไปเกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก
แนวคิดนี้เหมาะที่จะนำมาใช้กับบริษัทที่มีผู้บริหารดีใช้ได้ในระดับหนึ่ง และอาจจะไม่เหมาะกับหุ้นวัฎจักรนัก เพราะหุ้นวัฎจักรนั้นในช่วงที่ธุรกิจแย่ๆ นั้นจะมีช่วงที่ขาดทุนค่อนข้างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ book value ลดลงไปทำให้หากเดิมใช้วิธีที่แล้วหุ้นนั้นถูกแต่เมื่อเวลาผ่านไปหุ้นอาจจะไม่ถูกก็ได้ครับ และไม่ควรใช้กับหุ้นที่ผู้บริหารมีการบริหารแบบ destroy value บริษัทไปเรื่อยๆ เช่น มีการบริหารไม่โปร่งใส มีการรั่วไหล หรือขาดความสามารถในการบริหารโดยมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ๆ ที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินหรือ cost of equity ครับ
วิธีนี้น่าจะเหมาะกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ที่ซื้อขายได้ค่อนข้างง่ายในตลาดโลกครับ และมีผู้บริหารค่อนข้างใช้ได้ ที่เห็นจะใกล้เคียงน่าจะเป็นธุรกิจประเภทสำรวจขุดเจาะพลังงานหรือแร่ธาตุ ธุรกิจเดินเรือ ( ซึ่งอาจจะต้องอิงกับราคาตลาดของเรือที่มีอายุเท่าๆ กันในขณะนั้น ) อะไรทำนองนี้ครับ
ดังนั้น แนวคิดนี้ นำไปใช้ได้ครับ แต่ผู้นำไปใช้จะต้องมีความรู้ด้านการลงทุนในระดับหนึ่งและใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบด้วยครับ จะดูแต่สัดส่วนทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ครับ
12.หุ้น tpipl ที่มี pbv 0.10 เท่าหรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น 10% ที่ราคาตลาด
แถมยังมีการตั้ง provision ที่จะโดนฟ้องร้องไปแล้ว 6900 ล้าน
ซึ้งคดีจะออกหัวหรือก้อยก็ไม่รู้แต่ที่รู้คือ market cap เหลือแค่
5000 ล้าน ซึ้งถ้าเราคิดซะว่าเราซื้อ option ไป เพราะโอกาสที่จะเหลือแค่
0.05 ของ bv ก็คงน้อยมากๆ ราคานี้อาจจะมีคนสนใจจะมา take over ก็ได้หรือป่าวครับ
- หุ้นพวกนี้ต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ด้วยครับ เพราะจุดตายของหุ้นพวกนี้คือ มักจะมีเจ้าหนี้เงินกู้ซึ่งในภาวะที่ธุรกิจไม่ค่อยดีอาจจะมีปัญหาในการคืนเงินต้นตามกำหนดเวลาได้ครับ และไม่ค่อยจะสามารถ roll หนี้ออกไปได้ ซึ่งถ้าเพิ่มทุนไม่ได้จะมีปัญหาทางการเงินตามมาและอาจจะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการได้ แม้จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตรออยู่ก็ตาม หุ้นตัวหนึ่งที่มีความเสี่ยงตรงนี้อยู่คือ TRUE ซึ่งเป็นหุ้นที่มีสินทรัพย์มาก มี market cap ต่ำมากและมีบริการทีเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากเราไปกู้หนี้นอกระบบมาและมีกำหนดคืนเดือนหน้า แต่ปีหน้าเราจะได้รับมรดกจำนวนหนึ่งที่มากกว่าหนี้นอกระบบที่กู้มาถึง 5 เท่า แต่ประเด็นนี้จะนำเป็นเหตุผลที่ดีในการขอยืดหนี้จากเจ้าหนี้ได้หรือไม่นั้นก็คงทราบคำตอบนะครับ เพราะสิ่งที่เป็นประมาณการที่จะเกิดในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนโดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้
หุ้นตัวที่ถามถึงมานั้นก็พอจะทราบกันดีอยู่นะครับว่าตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร วันที่มันมี p/bv 0.3 หรือ 0.2 เท่า ก็อาจจะมีคนซื้อเพราะคิดว่ามันถูกเช่นกัน หุ้นประเภทนี้เวลาตลาดลง ก็ลงแรง เวลาขึ้นก็ขึ้นแรง คำถามคือ เรากล้าซื้อหุ้นแบบนี้เกิน 10% ของพอร์ตหรือไม่ หุ้นพวกนี้ถ้าซื้อเป็น % มากก็นอนไม่หลับ แต่ถ้าซื้อน้อยเวลาขึ้นก็จะกำไรเป็น % มากแต่กำไรเป็นตัวเงินน้อย เลยทำตัวไม่ถูกเวลาหุ้นขึ้นไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี แต่ยังไงผมคิดว่าซื้อหุ้นพวกนี้อาจจะยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเล่นหวยใต้ดินหรือการแทงม้าอยู่ซักหน่อยครับ
13.หุ้น amata เป็นหุ้นที่ลงมาจากแถวๆ 20 บาทจนเหลือ 3.30 marketcap เหลือแค่ 3600 ผมว่าเป็น market cap ที่ดูเผินๆแล้ว
น้อยมากถ้าเทียบกับบริษัทนิคมอุตสาหกรรมแนวหน้าของเมืองไทย
ถ้าดูจากงบ กำไรงวด q3 แทบไม่ลดเลย กำไรในรอบ 9 เดือนกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ซึ้งส่วนทางกับราคาหุ้นมากๆ ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะเรื่องการเมืองและที่เพิ่งมีข่าวว่าปีหน้าคงขายที่ได้น้อยลง ถ้าจำไม่ผิดไม่น่าจะเกิน 1000 ไร่
แต่ดูเหมือนราคาหุ้นจะรับไปเยอะมากๆเลย อยากถามความเห็นตัวนี้หน่อยครับ
- อาจจะคล้ายๆ ข้อ 11 ครับ ถ้าถือยาวๆ จนพ้นภาวะวิกฤติต่างๆ ไปได้ราคานี้ก็อาจจะสร้างผลตอบแทนที่งดงามได้ครับ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าผมเองยังนึกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ว่าภาคธุรกิจจะซื้อที่ดินสร้างโรงงานผลิตอะไรดี หรือธุรกิจไหนที่จะพอจะขยายโรงงานได้บ้าง หรือถ้ามีจริงๆ ผมคิดว่าการเช่าโรงงานน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเสียด้วย ตอนแรกหากการเมืองยืดเยื้ออาจจะมีการสร้างโรงงานผลิตมือตบ เท้าตบจำนวนมากได้ ผมคิดว่าถ้ายังไม่มีสัญญาณอะไรดีขึ้นไปกว่าปัจจุบันผมคิดว่า amata ไม่น่าจะขายที่ดินในปีหน้าได้เกิน 500 ไร่ครับ และอาจจะไม่ถึง 300 ไร่เสียด้วยครับ และล่าสุดเห็นผู้บริหารจะออกมาบอกแล้วครับว่าไตรมาส 4 จะขาดทุนเพราะขายที่ดินแทบไม่ได้จึงทำให้ขาดทุนจากรายจ่ายที่เป็น fixed cost ครับ
คงต้องย้อนไปดูตัวเลขการขายที่ดินในนิคมในช่วงปี 41-42 ดูครับ ว่าต่ำสุดที่เท่าไหร่ แต่ตอนนั้นภาคการผลิตเพื่อการส่งออกยังดีอยู่ด้วยนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังหวังว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหากการเมืองเริ่มสงบขึ้นก็คือ ในภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ อาจจะมีความพยายามที่จะลดต้นทุนจากประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่าเรามายังประเทศไทยได้ในอุตสาหกรรมที่เรามีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น ยานยนต์ และยังหวังว่าบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นยังไม่ชะลอแผนการลงทุนในปี 52-53 ที่เคยได้ประกาศไว้ เช่น eco car ซึ่งถ้ายังไม่ชะลอก็ยังพอจะทำให้มีความต้องการพื้นที่ในนิคมอยู่ครับ
No comments:
Post a Comment