Wednesday, April 27, 2011

คุณ ih ครับ ภาค 5 โดย hongvalue จาก เวปกระทิงเขียว

1.เคยได้ยินมาว่าจอสโซรอส นั้นแปลกตรงที่เวลาลงทุนนั้นเขามักจะผิดมากกว่าถูก
แต่ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงได้กำไรเยอะขนาดนี้ คุณ ih พอทราบไหมครับ

- การลงทุนโดยเฉพาะการซื้อหรือที่เรียกว่า long position นั้น ถ้ากำไรจะกำไรได้ไม่มีขีดจำกัด เช่น สามารถกำไรได้ถึง 10-100 เท่า หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 1000-10000% แต่กรณีการขาดทุนขาดทุนได้แค่เงินลงทุนที่ลงทุนไป คือ 100% ดังนั้นการซื้อหุ้นหรือ long position นั้น upside นั้นเปิดกว้างแต่ downside ปิด

ส่วนของโซรอส ผมคิดว่าก็เป็นไปได้ว่าเค้าอาจจะผิดมากกว่าถูก แต่ครั้งที่ผิดเค้าก็น่าจะมี limit loss คือ จำกัดความเสียหายไว้ประมาณหนึ่ง และไม่มีการผิดวินัยที่เข้าไปเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนที่ผิดพลาดเพื่อหวังว่าต้นทุนเฉลี่ยจะต่ำลงแน่นอน และกรณีที่การลงทุนมีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนสูงด้วยความน่าจะเป็นที่สูง โซรอสก็น่าจะให้น้ำหนักการลงทุนสูงและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเมื่อเห็นแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

ผมฟังรายการวิทยุ เห็นนักลงทุนบ้านเราถือ PTTAR กันจำนวนไม่น้อย และเมื่อหุ้นลงมา 35 32 30 ก็ตามซื้อเพิ่มเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง โดยที่จริงๆ ผมไม่แน่ใจว่าได้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มธุรกิจละเอียดหรือไม่ การซื้อเฉลี่ยเพียงเพื่อให้ต้นทุนลดลงแต่ไม่ได้มีความมั่นใจหรือผ่านการศึกษามาอย่างละเอียดนั้นก็น่าจะส่งผลให้แม้ว่านักลงทุนถูกมากกว่าผิด แต่การลงทุนที่ผิดบางครั้งก็ลบล้างการลงทุนที่ถูกหลายๆ ครั้งได้ โดยเฉพาะนักลงทุนที่หน้าใหม่หรือไม่ได้ศึกษาดีพอ เวลากำไร ก็กำไรนิดๆ หน่อยๆ ก็รีบขาย แต่เวลาซื้อแล้วหุ้นลงมักจะถือยาว มิหนำซ้ำยังซื้อเพิ่มเข้ามาอีก เค้ามีหลักว่า cut loss, let profit run แต่ผมเห็นหลายคนยึดหลัก cut profit, loss let it run กันอยู่มากครับ


2.เรื่องตลาด future คุณ ih คิดว่าเป็นการลงทุนหรือการเก็งกำไรครับ สมัยก่อน
ใครๆก็มองว่าหุ้นเป็นการพนัน ไม่เหมือนตอนนี้ คุณ ihคิดว่าเป็นไปได้ไหมครับว่า
อีกหน่อย พอมีการให้ความรู้ในวงกว้าง คนก็จะมองว่า future คือการลงทุน

- ผมมองตลาด future เป็นการลงทุนยังไม่ค่อยไหวอยู่ดีครับ แต่สามารถใช้ในกรณี hedging หรือประกันความเสี่ยงได้ เช่น หากเราเลือกหุ้น 3 ตัวที่เรามั่นใจว่าพื้นฐานดีมาก มีการเติบโตสูง ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่เราก็กลัวปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเมือง ฯลฯ ซึ่งมีโอกาสที่ทำให้หุ้นลงหนักได้ แต่ยังไงเราก็เชื่อว่าหุ้นที่เราถือนั้นน่าจะลงน้อยกว่าตลาดเช่นกัน ถ้าเป็นเช่นนี้คือ เรากลัวเรื่องการเมืองมากแต่ก็มั่นใจในหุ้นที่เราเลือกมาก แทนที่เราจะขายหุ้นดีๆ ทิ้งเพราะกลัวการเมือง เราก็ไม่ต้องขาย ถือต่อ แต่มา short future แทน ถ้ามีเหตุการณ์ร้ายจริง หุ้นที่เราถือก็ลงมาบ้างแต่เราก็ไปได้กำไรจากการ short future ซึ่งถ้าหุ้นที่เราถือนั้นลงน้อยกว่าตลาด เราก็จะมีส่วนต่างตรงนี้อยู่ แต่ในทางกลับกัน ถ้าตลาดขึ้น แม้ว่าหุ้นเราจะขึ้น แต่เราก็ไปขาดทุนจาก future ด้วย ดังนั้นต้องเข้าใจว่าการประกันความเสี่ยงนั้นต้องมีทั้งได้เงินและเสียเงิน โอกาสที่ได้ทั้ง 2ทางก็มีแต่โอกาสไม่มาก เช่น หุ้นที่เรามีขึ้นแต่ตลาดรวมลง ก็คล้ายๆ กับการทำประกันรถหรือชีวิตนะครับ ถ้าเราจะได้ประโยชน์จากบริษัทประกันก็ต่อเมื่อเราต้องขับรถไปชนหรือเข้า รพ.

แม้หลักการประกันความเสี่ยงนั้นก็ดูดี แต่ในการลงทุนจริง ผมก็ยังไม่ได้ใช้ future ในการประกันความเสี่ยงครับ เหตุผลก็คือ ผมไม่ชอบขาดทุนครับ แม้ว่าเป็นการขาดทุนขาหนึ่งและอีกขาหนึ่งจะกำไรก็ตาม เพราะแม้ตลาดจะลงเละเทะแต่ผมเชื่อว่าหุ้นที่ผมถือก็จ่ายปันผลเท่าเดิมหรือลดลงไม่มาก ดังนั้นสิ่งที่ลดเป็นแค่ราคาที่ตลาดจะให้แต่กระแสเงินสดที่ผมจะได้รับจากการถือหุ้นก็เท่าเดิม ถ้าไม่สบายใจกับภาวะตลาดจริงๆ ผมก็จะเลือกที่จะถือเงินสดเพิ่มขึ้นโดยขายหุ้นที่ค่อนข้าง sensitive กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกไปบ้าง หรือไปถือหุ้นที่ผลประกอบการไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศเลย

3.คุณ ih มีความเห็นยังไงกับหุ้น ifec ผม screen คร่าวๆแล้วเป็นหุ้นที่ pe ต่ำแต่ จุดอ่อนอยู่ที่เป็น
ผู้นแทนจ่ำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารนั้นหมายถึง asset ที่ใช้หากินหลักๆ ไม่ใช้ของตัวเอง และมีประเด็น
ไปลงทุนในร้านอาหารในเมืองจีนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เลยอยากถามพี่ ih ว่าณ ราคาแถวนี้ ifec ราคาถือว่า
Reasonable หรือยังครับ

- ผมไม่ได้ศึกษาเลยครับ แต่ถ้าใช้ข้อมูลจากที่คุณ hong ถามมานั้น การที่เรามองว่าธุรกิจนั้นๆ มีความเสี่ยงอยู่สูง ก็แสดงว่า p/e ที่เราควรจะให้ก็คงจะต้องต่ำในระดับหนึ่ง และคงจะต้องศึกษาปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะกระทบต่อกำไรในอนาคตให้ละเอียดและมากพอครับ ส่วนการลงทุนในร้านอาหารก็เป็นเรื่องที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิงนะครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำได้ไม่ดี เพียงแต่ว่าเราจะมีกระบวนการที่ทราบได้อย่างไรว่ามันจะดีหรือไม่ดี อย่างน้อยอาจจะต้องลองถามผู้บริหารดูครับ และหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพิ่มเติมเช่น อย่างน้อยลอง search ใน google ดูครับ ว่ามีการพูดถึงกันบ้างหรือไม่อย่างไรบ้าง

ผมให้ข้อคิดว่า ถ้าเราคิดว่าหุ้นที่เราซื้อมีความเสี่ยงที่เรายากที่จะรู้ล่วงหน้าหรือควบคุมไม่ได้ แม้ว่าราคาที่เราซื้อมาจะถูก แต่ต้องประเมิน style การลงทุนเราด้วยว่าเราชอบแบบนี้หรือไม่ บางคนซื้อหุ้นแบบนี้มาแล้วนอนหลับสบายใจรับความเสี่ยงได้ ตรงนี้ผมว่าก็ไม่น่าจะเป็นไร แต่ถ้าซื้อแล้วกังวล คิดซ้ำแล้วซ้ำอีก นอนไม่หลับ แม้จะกำไรก็อาจจะไม่คุ้มกับความกังวลนะครับ หรือถ้าไม่ชัวร์จึงซื้อน้อย เวลาขึ้นกำไรเป็น % ก็มากแต่มีผลต่อพอร์ตน้อย กลายเป็นว่าหุ้นที่ซื้อนั้นขึ้นแต่ไม่รู้ควรจะดีใจหรือเสียใจดี มานั่งคิดต่ออีกว่ารู้งี้ซื้อมากกว่านี้ก็ดีเป็นงั้นไป ดังนั้นซื้อหุ้นที่เราถือแล้วกินอิ่มแล้วนอนหลับนั้นดีที่สุดครับ แต่หุ้นที่ถือแล้วกินอิ่มนอนหลับสำหรับแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกันครับเพราะแล้วแต่ความถนัด ความรู้ในธุรกิจต่าง การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่แต่ละคนมีครับ แต่ที่แน่ๆ ปัจจัยที่มีผลต่อการกินอิ่มนอนหลับก็คือการเข้าใจในธุรกิจและบริษัทที่เราลงทุนอย่างถ่องแท้ครับ ซึ่งถ้าเราซื้อหุ้นตามคนอื่นโดยไม่ศึกษานั้นโอกาสที่จะกินอิ่มนอนหลับอาจจะไม่เต็มที่ อย่างบางทีหุ้นที่ผมแนะนำพรรคพวกไปบางวันก็ขึ้นไปมาก บางวันก็ลงไปมาก วันเช่นนี้ผมต้องรับโทรศัพท์เพื่อตอบคำถามว่าหุ้นขึ้นเพราะอะไร ลงเพราะอะไร ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากและยากที่จะตอบมาก บางทีอยากจะตอบแค่ว่า ที่ขึ้นมากนั้นเพราแรงซื้อ aggressive กว่าแรงขาย เวลาลงมากก็เพราะแรงขาย aggressive กว่า บางทีตอบได้แค่นั้นจริงๆ แต่อย่าเผลอไปตอบแบบที่เคยได้ยินในรายการวิทยุว่า ที่หุ้นขึ้นเพราะแรงซื้อมากกว่าแรงขายแล้วกันครับ เพราะหุ้นทุกตัว order ซื้อกับขายต้อง match กันดังนั้นมันต้องเท่ากันครับ ถ้าไม่มีคนขายให้แล้วคนซื้อจะซื้ออะไรในทางกลับกันถ้ามีแต่คนขายไม่มีคนซื้อก็ไม่ได้ครับ

4.ไม่ทราบว่า npv กับdcf ต่างกันอย่างไร

- ตามความเข้าใจของผมน่าจะเหมือนกันนะครับ ก็คือการประมาณการกระแสเงินสดอิสระ ( Free cash flow ) ในอนาคต และปรับ ( discount ) ให้มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ( present value ) ครับ NPV มักจะใช้บ่อยในการคิดหามูลค่าการลงทุนต่างๆ ที่ไม่ใช่หุ้น แต่ DCF มักจะเป็นชื่อที่ใช้ในการหามูลค่าหุ้น โดยรวมก็คือตัวเดียวกันครับ

5.irr กับ wacc ต่างกันไหมครับ เท่าที่รู้ irr คือ % ที่ทำให้ npv เท่ากับ 0

- ใช่ครับ irr คือ % discount rate ที่ทำให้ npv เท่ากับ 0
ส่วน wacc คือ % discount rate ที่เราใช้หา NPV หรือ IRR ครับ

ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคาเท่ากับ NPV ก็หมายความว่าเราจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ discount rate ที่เราใช้หรือเท่ากับ % WACC นั่นเองครับ ถ้าซื้อต่ำกว่า NPV หมายความว่าผลตอบแทนจะมากกว่า % WACC ครับ

6.เคยได้ยินมาว่าธุรกิจไฟฟ้าเมื่อก่อนมี irr มากกว่า 10% แต่เดี่ยวนี้ไม่เกิน 10% อยากทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

- ยุคแรกที่มีการประมูลโรงไฟฟ้าตั้งแต่ EGCO RATCH BLCP นั้นเป็นครั้งแรกๆ ของการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ IPP ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยช่วงนั้นอยู่ที่ 10% บวกลบ ผลตอบแทนหรือ IRR จึงต้องมากกว่าดอกเบี้ย แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 2-3% ดังนั้นผลตอบแทนของโรงไฟฟ้าปัจจุบันจึงลดลงตาม อีกอย่างหนึ่งคือ หลังจากที่การดำเนินงานของ EGCO RATCH ผ่านไปได้ด้วยดี และรัฐบาลก็ปฎิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด ทำให้นักลงทุนต่างชาติจึงให้ความสนใจในการเข้าประมูลรอบใหม่มากขึ้น หากเปรียบเทียบ IPP ของไทยกับโรงไฟฟ้าในจีนจะเห็นว่า คนที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าในจีนเจอปัญหามากกว่าเพราะการจีนมีการแทรกแซงมากกว่า และมีข้อจำกัดในการปรับราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

7.ผมเคยได้ยินนักลงทุนท่านนึงถาม อาจารย์ นิเวศว่า อาจารญื พ่อแม่ของหนูตกนรก (ซื้อหุ้นช่วงวิกฤติและหมดตัวหลังวิกฤติ) ทำไมอาจารย์ถึงไม่ตกนรกบ้างล่ะค่ะ ด.ร.นิเวศน์บอกว่าผมไม่ตกนรกเพราะว่าผมเกิดจากนรก
(ซื้อหลังจากที่ดัชนีลงจาก 1700 เหลือ 800)ผมเลยอยากถามว่าถ้า pe ตลาด 30 เท่าแล้วคุณ ih จะลงทุนในหุ้น 100% ไหมครับ หรือว่าเลิกเล่นหุ้นไปเลย หรือถือเงินสดครึ่งนึง เผื่อว่าจะได้เกิดจากนรกแหมือนอาจารย์นิเวศน์

- p/e ตลาด 30 เท่า คือ p/e เฉลี่ย ดังนั้นแม้หุ้นส่วนใหญ่จะแพง แต่อาจจะมีหุ้นบางตัวที่ไม่แพงนัก แต่ถ้าผมหาหุ้นที่น่าสนใจไม่ได้ก็คงต้องถือเงินสดมากขึ้นครับ ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 2-3% แต่หุ้นหลายๆ ตัวปันผลได้ประมาณ 3-8% และ p/e ก็อยู่ 10 กว่าเท่า ดังนั้นปัจจุบันนี้ผมก็ยังคิดว่าหุ้นยังน่าสนใจและน่าจะปกป้องเงินเฟ้อได้ดีกว่าการฝากเงินครับ

8.อยากทราบมุมมองทางธุรกิจของบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหน่อยครับสอง บ.ล.นะครับ
คือ mk กับ มาลีฟราน
8.1 mk เป็นธุรกิจที่มี market share สูงมาก และมี manage ระดับสุดยอด แต่หลังๆ mk เริ่มแตกไลน์อกมาก็คือ ยาโยอิ ไม่รู้ว่าจะเป็นสัญญาณได้ไหมว่าตลาดสุกี้ อิ่มตัว ถ้า mk อยู่ในตลาดหุ้น และ pe 20 เท่า คุณ ih จะซื้อหรือไม่

- คงต้องดูงบก่อนครับว่าการเติบโตของรายได้และกำไรในระยะหลังๆ เป็นยังไง ส่วนการแตก line ร้านยาโยอิ ผมมีโอกาสได้ลองทานก็เห็นว่ารสชาติใช้ได้และลูกค้าก็เยอะใช้ได้ จุดเด่นของยาโยอิคือ ราคาถูกกว่า Fuji อาหารได้เร็ว การจัดร้าน บรรยากาศและแสงในร้านเร่งให้ลูกค้าใช้เวลาทานไม่นานนัก ดังนั้น turnover น่าจะสูง ส่วนการอิ่มตัวของ MK นั้นอาจจะยังไม่ถึงเวลาเพราะช่วง 1-2 ปีนี้ทั้ง Lotus และ BigC ก็ยังมีการขยายสาขาอยู่มากพอสมควรครับ ที่แตก line เพราะ MK อาจจะมองว่าแม้ว่าจำนวนสาขาของ MK จะยังเพิ่ม แต่จำนวนลูกค้าต่อสาขาอาจจะยังเพิ่มไม่มากนักเพราะอาจจะเสียลูกค้าส่วนหนึ่งไปให้กับร้านอาหารญี่ปุ่น ดังนั้นอาจจะคิดว่าถ้างั้นก็น่าจะไปทำร้านอาหารญี่ปุ่นแข่งด้วยเลยน่าจะดีกว่า

8.2ธุรกิจอีกอันคือ ธุรกิจลดความอ้วน มารีฟรานซ์ ผมว่า ผู้หญิงกลัวความอ้วนกันก็ต้องแห่กันไปทำ
แถมเขาชอบเอาคนดังๆเช่น ดารา มาถ่ายรูปก่อนเข้า course กับ หลังเข้า course เคยเห็น โอ้โห ผอมได้จริงขนาดนั้นเลยเหรอ เคยได้ยินว่า course นึงหลายหมื่น ไม่แน่ใจว่ามี บาง course เกือบแสนหรือป่าว
แต่ดูๆแล้วเป็นธุรกิจที่ไม่มี barry to entry เท่าไหร่ เพราะใครๆ ก็คงจ้างดาราได้ แต่คิดว่าเป็นธุรกิจที่ maigin สูงมาก ถ้า มารีฟรานซ์ pe 10 เท่าพี่ ih จะซื้อลงทุนไหม

- คงต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย แต่ pe 10 เท่าสำหรับหุ้นที่มี brand name ก็นับว่าไม่แพง ผมคิดว่าการสร้าง brand ของธุรกิจลดความอ้วนก็ต้องใช้เวลาสะสมอยู่เหมือนกันครับ เพราะถ้าให้ผมนึกถึง brand ที่มีชื่อเสียงตอนนี้ก็นึกได้ 2 brand เท่านั้นคือ มารีฟรานซ์กับ body shape ครับ

การลงทุนลดความอ้วนแม้ว่าจะแพงแต่อาจจะมีผลตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินสูงสำหรับลูกค้าก็ได้นะครับ และกลุ่มคนที่ผลักดันและกระตุ้นให้ผู้หญิงอยากผอมกันทั้งทางตรงและทางอ้อมก็คือพวกผู้ชายมิใช่หรือครับ

9.มีผู้ประกอบการอสังหาท่านนึงบอกว่า lpn กับ ps มาร์จินดีเพราว่า ทั้งสองเป็นผู้รับเหมามากกว่า developer
ไม่ทราบว่า พี่ ih มองยังไงครับ

- PS สร้างเองเกือบหมดครับจึงมีสภาพเป็นผู้รับเหมาเองด้วย และยังใช้เทคโนโลยี pre-fab ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และจำนวนสร้างก็มากจึงทำให้ต้นทุนต่ำ ส่วน LPN ก็มีการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีมาก ส่วนเป็นผู้รับเหมาเองหรือไม่นั้นผมยังไม่มีข้อมูลครับ


10.พี่ ih ครับ ข้อความท่อนนี้เอามาจากของด.ร.นิเวศน์เรื่อง psr
บางคนอาจจะบอกว่าค่า PSR นั้น ไม่ได้สะท้อนพื้นฐานที่สำคัญนั่นคือ กำไรของบริษัท เขาอาจจะบอกว่ายอดขายนั้นไม่มีประโยชน์ถ้าขายมากแต่ไม่มีกำไร ดังนั้น ค่า PSR ไม่น่าจะเป็นตัวที่ดูคุณค่าของบริษัทได้ ข้อนี้ผมกลับคิดว่า ค่า PSR อาจจะดีกว่าค่า PE ในแง่ที่ว่า มันน่าจะสะท้อนกำไรของบริษัทในระยะยาวได้ดีกว่า เหตุผลก็คือ กำไรที่จะยั่งยืนนั้นจะต้องมาจากยอดขาย ในหลาย ๆ บริษัทนั้น เขาถึงกับยอมกำไรน้อยหรือขาดทุนเพื่อเพิ่มยอดขายเพื่อยึดส่วนแบ่งทางการตลาด เพื่อที่ว่าในอนาคตเขาจะได้เปรียบคู่แข่งและทำกำไรมากขึ้นในภายหลัง ส่วนบริษัทที่กำไรดีในวันนี้แต่ยอดขายต่ำ เขาอาจจะประสบกับอุปสรรคหรือสภาวะทางการตลาดเปลี่ยนแปลงทำให้กำไรในปีต่อ ๆ ไปตกต่ำลง

พี่มีความเห็นยังไงบ้างครับ

- ก็มีทั้งกรณีหุ้นที่ Price to sale ratio ( PSR ) ต่ำ และท้ายสุดพอ margin ดีขึ้นก็จะทำให้กำไรดีขึ้นมาก และราคาหุ้นก็ค่อยๆ ปรับขึ้นได้ และกรณีที่ margin ไม่ดีขึ้นและ PSR ก็ต่ำยังไงก็ต่ำอย่างนั้นอยู่วันยังค่ำ เพราะหุ้นบางตัวผู้บริหารทำงานเพื่อคน 2 กลุ่มเท่านั้นคือ ลูกค้าและเจ้าหนี้ ดังนั้นคงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยกับ PSR ครับ

11.เท่าที่ดูๆแล้ว บ.ล.ที่ทำอนุพันธ์ทางการเงินส่วนใหญ่จะเสร็จทุกรายเช่น tpi ขาดทุนจาก DEUTSHE MARK เมื่อปี 36-37 และที่ ucom ขาดทุน โดยทำสัญญาธุรกรรมจาก fix เป็น float แต่ดอกเบี้ยกลับขึ้น ทำให้จ่ายดอกเพิ่ม หลายร้อยล้าน และเหยื่อรายล่าสุดก็คือ pttep ถ้าผมจะสรุปว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ผมเห็น บ.ล.ไหนทีอนุพันธ์
ผมก็ short หุ้นนั้นเลยคุณ ih มองยังไงครับ

- บางบริษัทในช่วงหลังๆ อาจจะทำเพื่อ hedging ซึ่งแม้จะขาดทุนจากอนุพันธ์อาจจะไปกำไรอีกขา เช่น เราซื้อหุ้นเต็มพอร์ตแต่กลัวหุ้นลงก็อาจจะไป short TFEX ถ้าหุ้นขึ้นเราก็กำไรจากหุ้นแต่ไปขาดทุนจาก Tfex แต่ส่วนใหญ่ถ้าบริษัทไปเล่นตลาดอนุพันธ์เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มกำไรนั้นอาจจะน่ากลัว เช่น เปลี่ยนดอกเบี้ย fix เป็น float ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงหากดอกเบี้ยขึ้นแรงๆ ปกติคนที่ไปเปลี่ยน fix เป็น float ควรจะเป็นสถาบันการเงินที่ต้องการปรับต้นทุนดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสัดส่วนรายได้จากการให้กู้ของตัวเองมากกว่า

แต่อย่างไรผมเองก็ไม่ค่อยชอบให้บ. Commodity ไปป้องกันความเสี่ยงของการลดลงของราคาขายผลิตภัณฑ์ด้วยการขายล่วงหน้า เท่าไหร่ เพราะ investor can diversify ( or hedging ) by themselves กล่าวคือ ถ้าผมคิดว่าน้ำมันแพงและต้องการ hedging พอร์ตตัวเองด้วยการซื้อหุ้นสำรวจน้ำมันตัวหนึ่ง แต่ถ้าหุ้นสำรวจน้ำมันตัวนั้นเกิดไปขายน้ำมันล่วงหน้าที่ 90 เหรียญไปเกือบหมดของกำลังการผลิตปีนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น อย่างกรณีของหุ้นที่ทำเหมืองสังกะสีตัวหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อนก็ขายล่วงหน้าไปมากทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากราคาสังกะสีขาขึ้นมากเท่าที่ควร

12.อาจารย์ วิกรมเคยบอกว่า แกมีสูตรคือ ให้ขายหุ้นในปีที่ดัชนีขึ้นมากกว่า 100% ซึ้งใน 30 ปี มีปี
2520 2532 2546 และให้ซื้อหุ้นในปีที่ดัชนีลงมากกว่า 40% ได้แก่ปี 2522 2540 2543 อยากถามว่าคุณ ih มีความ
เห็นต่อสูตรนี้อย่างไร และจะถือเป็น miracle numbeไหมที่เฉลี่ย ทุกๆ 10 ปี จะมีปีที่หุ้นขึ้น 100% และลง 40% 1 ปี

- ก็น่าจะให้ผลดีและถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ครับ อาจจะยกเว้นปี 40 ที่ถ้าซื้อหุ้นไปก็อาจจะอ่วมเพราะหุ้นลงหนักมากอีกปีคือปี 41 ซึ่งสิ่งที่ถูกหลายๆ ครั้งอาจจะมลายหายไปหมดหากเราพลาดครั้งใหญ่ๆ เพียงครั้งเดียว ดังนั้นเรื่อง magic number เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่เราไม่ควรยึดติดตายตัวว่าต้องทำทุกครั้งไปครับ

13.ทำไมเดี่ยวนี้ในตลาดหุ้นถึงไม่มี cover warrant เหมือนเมื่อก่อน เช่น scbc-1 scibc-1
และ cover warrant ออกมาเพื่ออะไร

- cover warrant เป็น warrant ที่ไม่ได้ออกโดยบริษัทนั้นๆ แต่ออกโดยกระทรวงการคลัง ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังเข้าไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสถาบันการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แต่ ก. คลังไม่ได้มีจุดประสงค์ในการถือหุ้นสถาบันการเงินนั้นในระยะยาวจึงออกเป็น cover warrant ให้กับผู้ซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักลงทุน เพื่อให้สิทธิในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์จากกระทรวงการคลังในเวลาที่กำหนด เช่น 3-5 ปี ดังนั้น cover warrant จึงเป็น call option ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้ออกโดยบริษัทเจ้าของ warrant แต่ออกโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็มีความใกล้เคียงกับ call option ของต่างประเทศ ดังนั้น cover warrant จะไม่ทำให้เกิด dilution effect เหมือน warrant ทั่วไปเพราะว่าไม่มีการออกหุ้นใหม่ 

No comments:

Post a Comment