Wednesday, April 27, 2011

คุณ ih ครับ ภาค 13 โดย hongvalue จาก เวปกระทิงเขียว

1.ไม่ทราบมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ 3 ยักษ์ดีทรอบด์ค่ายรถ
ใน usa เพราะไม่รู้จะล้มละลายกี่แห่ง และ เห็นว่าถ้า 3 ค่ายรถนี้
ล้มละลายน่าจะส่งผลกระทบต่อการว่างงาน ระดับ 2.5-3 ล้านคน
(ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13-16 เดือน 11 หน้า 16)
เพราะจะส่งผลกระทบไปยัง supply ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าตัวเลข 2-5-3 ล้านคนเวอร์ไปไหมน่ะครับ

และพี่ ih มีความเห็นเรื่องการล้มละลายของ 3 บริษัทนี้โอกาศเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และถ้าเกิดจริงจะส่งผลกระทบแค่ไหนครับ

- ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่นั้น ค่ายรถ Big3 ของสหรัฐเองก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีนัก โดยเฉพาะ GM หรือกระทั่ง Chrysler ซึ่งไปรวมกับ Daimler ที่ท้ายสุด Daimler ก็ต้องขาย Chrysler ออกมา

เหตุผลที่ค่ายรถ Big3 ของสหรัฐลำบากนั้นก็เพราะว่าเดิมทีค่ายรถทั้ง 3 นั้นก็พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้เน้นการทำการตลาดต่างประเทศนักเพราะตลาดในประเทศนั้นใหญ่มากพอ และเราคนไทยก็เห็นว่าช่วงก่อนๆ นี้ค่ายรถ Big3 แทบจะไม่ได้เข้ามาลงทุนหรือทำการตลาดในบ้านเราเลย ก็จะเริ่มมีก็ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาแต่ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเพราะรถอย่าง Chevrolet หรือ Ford ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน และในช่วง 10-30 ปีก่อน คนอเมริกันก็นิยมซื้อรถสัญชาติอเมริกันด้วยกัน ซึ่งหากเราดูหนัง Hollywood ยุคก่อนๆ จะเห็นได้ชัดว่าแทบไม่เคยเห็นรถญี่ปุ่นในหนังเลยและมักจะเป็นรถคันใหญ่ๆ กินน้ำมัน แต่มา 10 ปีหลังนี้ รถยนต์ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐและรถที่ได้รับการ vote ยอดเยี่ยมกลับกลายเป็นรถสัญชาติญี่ปุ่นมากขึ้น ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพและความนิยมของตลาดมานิยมรถขนาดเล็กหรือกลางมากขึ้น จากราคาน้ำมันทีแพงขึ้น เช่น Lexus Honda Accord หรือ Nissan Infinity ( หน้าตาจะคล้ายๆ Teana บ้านเรา ) และค่ายรถญี่ปุ่นนั้นก็ได้มุ่งเน้นในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตมากกว่า Big3 โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า

มีช่วงหนึ่งที่ Big3 มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมาบ้างใน 4-5 ปีก่อนคือ กระแสนิยมในรถ SUV ซึ่ง Ford และ Chrysler ทำได้ดีในรุ่น Escape และ Cherokee แต่เมื่อราคาน้ำมันเริ่มแพงใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ Big3 ก็ทำให้ยอดขาย SUV ลดลงและ Big3 ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นจุดล้มเหลวของค่ายรถ Big3 ก็คือ การ focus อยู่ในตลาดในประเทศมากเกินไป และสินค้าเน้นรถขนาดใหญ่มากเกินไป และการที่เสียตลาดในประเทศให้กับรถจากญี่ปุ่น และเมื่อเสียตลาดในประเทศแล้วก็ไม่สามารถไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้มากพอที่จะชดเชย นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ระบบเงินเดือนและสวัสดิการที่เป็นระบบบำนาญและการประกันสุขภาพก็เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของรถที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นผมคิดว่าการที่ Big3 จะมีขนาดเล็กลงหรือถูกซื้อกิจการแยกส่วนนั้นมีความเป็นไปได้ครับแต่ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากภาวะเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่เป็นปัญหาโครงสร้างที่เกิดขึ้นมายาวนานและวิกฤติครั้งนี้เป็นตัวซ้ำเติมให้มันเลวร้ายลงไปมาก

2.อ่านเจอว่า จีเอ็ม ในไตรมาส 3 ยอดขายรถยนต์ทั่วโลก 2.1 ล้านคัน
ลดลง 11% yoy

อยากถาม่าทำไมยอดขายลดลงเพียงแค่นี้ถึงกับทำให้บริษัทนี้มีความเสี่ยงทื่จะล้มละลายได้เลยเหรอ
เป็นเพราะว่าบริษัทผลิตรถยนต์มี fix cost เยอะหรือครับ

- Fixed cost เยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ย ค่าวิจัยพัฒนา ฯลฯ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เดิมเจียนอยู่เจียนไปอยู่แล้ว ยอดขายที่ลดลง 11% ก็เพียงพอที่จะทำให้มีปัญหาทางการเงินได้ครับ

ผมคิดว่ารัฐคงจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ 3 บริษัทนี้ เพราะ to big to fail แต่จะมีการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ด้วยการขายสินทรัพย์แบบแยกส่วน ยุบธุรกิจและตลาดที่ไม่สร้างกำไร เพื่อให้ธุรกิจมีขนาดเล็กลงที่สุดเท่าที่จะทำให้อยู่ต่อไปได้ครับ และต้องยอมรับว่า Big3 จะกลับไปใหญ่เหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้วครับ

3.ส่วนนึงที่บริษัทค่ายใน usa ปะคองตัวไม่รอด ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น
(ผมไม่เห็นเจอข่าวค่ายรถญี่ปุ่นมีปัญหา) เป็นเพราะว่า
ค่ายรถที่ us บริหารไม่ดี ไม่มี know how ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น
อย่าง honda toyota

- คำตอบส่วนหนึ่งคงอยู่ในคำตอบข้อ 1 แล้ว จุดเด่นของเศรษฐกิจสหรัฐและคนอเมริกันคือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์    ความยืดหยุ่นในการทำงาน    และความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายใต้ความแตกต่างทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านความคิด  เชื้อชาติ  สีผิว  ศาสนา      เราคงจะเห็นในหนัง Hollywood  แล้วว่าบางทีในเรื่องคนทำงานก็ไม่ถูกกันแต่ถ้ามีเป้าหมายร่วมกันก็มักจะร่วมมือทำงานให้สำเร็จได้    หนังเรื่องหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ  LA  Confidential  ครับ

   ส่วนจุดเด่นของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ความขยัน อดทน และวินัยการทำงาน ซึ่งรถยนต์ก็นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ผ่านจุดที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มานานแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จที่สำคัญคือ เรื่องต้นทุน ดังนั้นในระยะยาว ธุรกิจรถยนต์คงไม่ใช่ธุรกิจที่สหรัฐจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันครับ แต่เช่นกันครับ เราก็คงไม่เห็นความสำเร็จของญี่ปุ่นในบาง area เช่นกันครับ เช่น การเป็นบริษัท software ขนาดใหญ่ การเป็นเจ้าของ website ระดับโลก การสร้างภาพยนตร์ การสำรวจอวกาศ อาวุธสงคราม ฯลฯ ดังนั้นเมื่อโลกปัจจุบันเป็นโลกของการที่คนที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่งเท่านั้นจึงอยู่ได้ ดังนั้นดูเหมือนว่าสหรัฐคงมีพื้นที่ให้ยืนน้อยลงไปเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ครับ

แต่อย่างที่ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนคิดระหว่าง Krugman หรือ Porter ( น่าจะเป็น Krugman ) ก็คือ ทุกประเทศยังมีจุดยืนครับแต่คนละ segment ครับ และตามความนิยมของผู้บริโภคที่หลากหลายแตกต่างกัน เพราะสินค้าไม่สามารถทดแทนกันได้ และราคาไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวในการกำหนดการตัดสินใจ คนญี่ปุ่นบางคนก็ยังขับ Benz คนยุโรปก็อาจจะชอบ Lexus หรือ Accord คนอเมริกันอาจจะฟังเครื่องเสียง Sony ในขณะที่ลำโพง medium to high end ของอเมริกาอย่าง Bose ก็ยังขายดีทั่วโลก   ดังนั้นไม่ใช่ว่า Sony  ทำเครื่องเสียง  ลำโพงได้ถูกกว่าแล้วจะต้องทำให้ Bose เจ๊ง

4.ไม่แน่ใจว่าสัดส่วนตัว c หรือ consumtion ของประเทศญี่ปุ่นกับ usa ประเทศไหนเยอะกว่า เราจะพูดได้ไหมว่า สมมุติว่า usa ตัว c ของเขา เป็นสัดส่วนที่เยอะ
เทียบกับ i ,g,x-m ถ้าสัดส่วนนี้เยอะกว่า จะทำให้บริษัทอย่างค่ายรถได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่า

- ดูแล้วสัดส่วน c ของญี่ปุ่นจะน้อยกว่าสหรัฐมากครับเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งพาการส่งออกและรายได้จากการลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเยอะเพราะคนญี่ปุ่นมีการบริโภคน้อยกว่าและมีการออมมากกว่าคนอเมริกันเยอะครับ ส่วนบริษัทรถของญี่ปุ่นในระยะยาวน่าจะได้ประโยชน์จากยอดขายที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ แต่จะได้รับผลกระทบระยะสั้นถึงกลางจากภาวะเศรษฐกิจโลก     ดังนั้นบางทีการที่ Big3 มีปัญหาก็เป็นโอกาสในระยะยาวของค่ายรถญี่ปุ่น  หรือค่ายรถของประเทศเกิดใหม่  เช่น Tata motor  ที่จะเข้าไปซื้อกิจการ   Brand name  หรือโรงงานบางแห่งของ Big3 ได้ครับ

5 จริงๆแล้วเราควรดูข้อมูลของ gnp ประกอบกับการดู gdp มากน้อยแค่ไหนครับ
เพราะว่าถ้าคนในประเทศไปทำงานหรือมีรายได้ที่ต่างประเทศก็จะถือเป็น
gnp ของประเทศนั้นถูกไหมครับ
แบบนี้ประเทศญี่ปุ่นที่ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ
ก็จะทำให้ gdp ต่ำเกินจริง แต่ gnp จะสูง พูดแบบนี้ถูกไหมครับ

สรุปถ้าประเทศไหนอยากให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ก็ใช้วิธีให้คนไปทำงานต่างประเทศ กับ ย้ายฐานการผลิต หรือป่าวครับ

- ถ้าคนไทยประเทศไปทำงานหรือมีรายได้ที่สหรัฐก็จะถือเป็น
gnp ของประเทศไทยครับ แต่จะไปมีส่วนเพิ่ม GDP ของประเทศสหรัฐครับ

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นที่ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ ถ้าทำให้การจ้างงานในญี่ปุ่นลดลงก็จะทำให้ GDP ของญี่ปุ่นลดลงในส่วนการจ้างงานที่ลดลงครับ แต่ GNP จะสูงขึ้นมาครับ และจะได้ GDP ที่เพิ่มขึ้นหากบริษัทในประเทศส่งเงินกลับมาแล้วทำให้เกิดการใช้เงินจำนวนนี้ในประเทศญี่ปุ่นครับ


ส่วนใหญ่การย้ายฐานการผลิต น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องการค่าแรงและต้นทุน ซึ่งมักจะเกิดกับประเทศที่เศรษฐกิจโตติดต่อกันนานๆ จนค่าแรงเริ่มแพง ซึ่งก็เคยเกิดกับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ดังนั้นประเทศที่ GDP โตสูงๆ มักจะนำมาซึ่งการที่ค่าแรงแพงจนต้องมีการย้ายฐานการผลิตและอาจจะทำให้ GDP โตน้อยลงได้

ส่วนเรื่องแรงงานไปทำงานต่างประเทศ จะตรงข้าม มักเกิดกับประเทศที่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีทำให้มีแรงงานว่างงานมากและกระตุ้นให้คนงานไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ที่มีคนออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ผมเคยอ่านคร่าวๆ เห็นว่า 15% ของรายได้ของประเทศมาจากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศครับ

6.จริงๆแล้ว gdp ไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกไม่เยอะใช่ไหมครับ
ที่เขาออกข่าวกันว่า export เป็น 70% แต่ว่าพอ เป็น net export หักนำเข้าแล้ว
เหลือแค่ 15% แบบนี้จริงๆแล้ว ไทยก็ไม่ได้พึ่งพิงส่งออกเยอะอย่างที่คิดสิครับ

- สินค้าบางอย่างส่งออกก็ไม่ได้ต้องนำเข้าวัตถุดิบอะไรเข้ามานัก เช่น สินค้าเกษตร ประมง ฯลฯ และสินค้านำเข้าบางอย่างก็ไม่ได้นำมาเพื่อผลิตเพื่อส่งออก เช่น น้ำมันที่ใช้ในการเดินทาง ขนส่ง หรือสินค้านำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศ ดังนั้นคงดู net export อย่างเดียวไม่ได้ครับ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ตัวที่ต้องดูคือ import content ( สัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบ ) ของแต่ละอุตสาหกรรมส่งออก

ถ้าอุตสาหกรรมส่งออกไหนที่ import content ต่ำ เช่น 10% แปลว่านำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิต 10% และใช้วัตถุดิบในประเทศ 90% การส่งออกที่ลดลงจะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศสูงเพราะใช้วัตถุดิบในประเทศมากจึงกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

ถ้าอุตสาหกรรมส่งออกไหนที่ import content สูง เช่น 80% แปลว่านำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิต 80% และใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 20% การส่งออกที่ลดลงจะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศน้อยกว่า

อุตสาหกรรมที่ import content สูงๆ เช่น อิเลคทรอนิกส์ ทูน่ากระป๋อง
อุตสาหกรรมที่ import content ปานกลาง เช่น ยานยนต์
อุตสากหกรรมที่ import content ต่ำ เช่น เกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป ( ยกเว้นทูน่ากระป๋อง ) ประมง

อีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างรายได้จากต่างประเทศและมี import content ต่ำมากคือ ธุรกิจบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยว รักษาพยาบาล ซึ่งรายได้ 100 บาทเป็นรายได้ของคนในประเทศเกือบทั้งหมดมีส่วนที่ต้องนำเข้ามาน้อยมาก และมีธุรกิจต่อเนื่องหลายอย่าง ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและลดลงจึงกระทบกับ GDP ได้มากพอสมควร และเป็นธุรกิจที่ไม่ใช้เครื่องจักรจึงเกี่ยวข้องกับการจ้างงานค่อนข้างมาก เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยคงอยู่ต่อไปได้ ขอความกรุณาอย่าได้มีการยึดหรือปิดสนามบินอีกเลยครับ เพราะจะทำให้มีคนตกงานหรือสูญเสียรายได้เพิ่มจำนวนมาก

7.ปกติเงินเฟ้อมักจะสูงเมื่อ gdp โตสูงใช่หรือไม่
แต่เหตุการ์ stagflation gdp ตกต่ำ ที่เงินเฟ้อสูง
แสดงว่าเงินเฟ้อน่าจะเกิดจาก
cost put ใช่ไหมครับ

- Stagflation คือ stagnant + deflation คือ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโตต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดจาก cost push ซึ่งเกิดจาก supply shock คือ การลดลงของจำนวนสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตหรือบริโภค เช่น การลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมัน หรือภาวะแห้งแล้งหรือภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงมาก อย่างหลังจะพบบ่อยในเศรษฐกิจและสังคมในยุคก่อนๆ ที่สังคมเป็นสังคมเกษตรกรรมครับ

อย่างกรณีปัจจุบันจะเห็นว่าการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นไม่ได้เกิดจาก supply shock คือ การผลิตน้ำมันในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะปกติ แต่ที่น้ำมันแพงขึ้นนั้นเป็นผลจาก demand เพิ่ม ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงราคาน้ำมันก็ลดลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่เกิดภาวะ stagflation อย่างที่เคยกลัวกัน แต่ก็เลยเปลี่ยนไปกลัว depression กันแทนซึ่งรุนแรงพอๆ กับ stagflation เช่นกัน กล่าวคือ stagflation จะมีการว่างงานน้อยกว่าแต่มีภาวะข้าวยากหมากแพง แต่ depression นั้นราคาสินค้าไม่แพงแต่คนจะตกงานจำนวนมากกว่า

8. ตัวเลขการเติบโตของ gdp ไทยย้อนหลัง
มีการเติบโตถึง 14-15% ด้วยในช่วงปี 2530-2531
อยากทราบว่าการเติบโตช่วงนั้นหลักๆ
มาจากการเมืองมีเสถรียรภาพ และ มีการเปิดเสรีทางการค้าใหม่ๆใช่ไหมครับ
น่าจะเป็นยุคนายก ชาติชาย ใช่หรือไม่
พี่ ih คิดว่าเมื่อไหร่ไทยจะกลับไปมี gdp โตซัก 14-15% อีกครับ
ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างครับ

-   การเติบโต 2 หลักช่วงนั้นมีหลายปัจจัยครับ ที่สำคัญอีกอย่างคือ การที่ประเทศเปลี่ยนจากการพึ่งพิงภาคการเกษตรเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีเงินลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานของต่างชาติจำนวนมาก และแรงงานจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ผู้หญิงเข้าสู่ภาคแรงงานมากกว่าเดิมมาก ทำให้จำนวนแรงงานหรือ workforce เพิ่มขึ้นมาก

ในปัจจุบัน อัตราการเข้าสู่ภาคแรงงานของเพศหญิงไม่ได้เพิ่มแล้ว และแรงงานจากภาคเกษตรก็ไม่ได้เข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากนัก รวมถึงการลงทุนของต่างชาติก็ไม่ได้มากมายเหมือนช่วงปี 2530 เพราะค่าแรงและต้นทุนการผลิตของไทยไม่ได้มีความได้เปรียบมากเหมือนเมื่อก่อน รวมถึงมีประเทศกำลังพัฒนาเกิดใหม่ที่เป็นทางเลือกอีก เช่น จีน อินเดีย หรือยุโรปตะวันออก

ดังนั้นการที่เราจะมี GDP โต 14-15% คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้วครับ สามารถฟันธง และ confirm ได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งหมอลักษณ์หรือหมอกฤษณ์ครับ

9. เงินที่จีนจะเอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านๆหยวน
มีนักวิเคราห์บางคนบอกว่า อาจจะเอาเงินมาจากการขาย
พันธบัตร us ที่อยู่ในรูป reserve มีความเป็นไปได้ไหมครับ
และถ้าเป็นยังงั้นจริงจะส่งผลให้ค่าเงินดอลแข็งใช่ไหมครับ

- ถ้าจีนขายพันธบัตรสหรัฐ แล้วนำเงินกลับประเทศจะทำให้ค่าเงินดอลอ่อนนะครับ เพราะเป็นขายดอลล่าร์ซื้อหยวน

แต่โดยปกติแล้วเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลสามารถออกพันธบัตรรัฐบาลและกู้เงินจากระบบ ( ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน ) ได้ครับ แต่การกู้เงินจากระบบจะไปแย่งเงินจากภาคเอกชนมา ซึ่งจะไปลดทอน ( crowding out ) การลงทุนภาคเอกชนได้ ดังนั้นเพื่อลดผลของ crowding out ธนาคารกลางก็จะพิมพ์เงินเพิ่มมาส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการใช้เงินเพิ่มขึ้นของภาครัฐด้วยครับ แต่การพิมพ์เงินเพิ่มจะต้องอยู่ในจำนวนที่เหมาะสมไม่มากเกินไปที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงได้ครับ
แต่ในช่วงเศรษฐกิจแย่ๆ การใช้เงินของภาครัฐโดยชดเชยโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลนั้นจะทดแทนการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคที่น่าจะลดลงในช่วงนั้นครับ กล่าวคือ เมื่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ถ้าปล่อยเป็นเช่นนี้นานๆ เศรษฐกิจจะถดถอยไปเรื่อยๆ ภาครัฐต้องใช้จ่ายแทนครับ

หลักการบริหารการคลังก็จะเป็นลักษณะนี้ครับ เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจดี ภาคเอกชนและผู้บริโภคกล้าใช้เงิน ภาครัฐจะต้องประหยัดแทนครับคือ ควรมีงบประมาณเกินดุล แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ เอกชนไม่กล้าใช้เงิน ภาครัฐต้องใช้เงินแทนครับ คือ ควรมีงบประมาณขาดดุล

10.ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของ us ในเดือน ตุลาคม ออกมาที่
237200 ซึ้งมากกว่าเดือนตุลาปีที่แล้ว 4 เท่า และมากกว่าของ 6 เดือนแรก
ปีที่แล้วรวมกัน เข้าใจว่าเพราะไปช่วยเพิ่มทุนสถาบันการเงิน
แต่ตัวเลขที่ขาดดุลมากขนาดนี้ จะส่งผลยังไงตามมาครับ
เพราะว่ารัฐของต้องมีหนี้มากขึ้น ก็หมายถึงต้องออกพันธบัตรมาใช่ไหมครับ
ออกพันธบัตรเยอะๆจะทำให้ค่าเงินอ่อน เกี่ยวไหมครับ
สมมุติประเทศอื่นซื้อพันธบัตร us ไปก็เหมือนกับเงิน us ไหลออกใช่ปะครับ

- ต่อเนื่องจากข้อ 9 ครับ ปกติแล้วการออกพันธบัตรรัฐบาลมักจะตรงทำควบคู่กับการพิมพ์เงินเพิ่ม ซึ่งการพิมพ์เงินเพิ่มก็จะทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มและจะทำให้ค่าเงินอ่อนครับ แต่กรณีของสหรัฐจะพิเศษตรงที่พันธบัตรรัฐบาลถูกซื้อโดยรัฐบาลประเทศอื่นๆ เพื่อใช้เป็นทุนสำรองและนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ที่ต้องการการลงทุนแบบไม่มีความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อประเทศอื่นซื้อพันธบัตรสหรัฐ ก็หมายความว่าจะต้องซื้อเงินดอลล่าร์ครับ ดังนั้นคือ เงินไหลเข้านะครับไม่ใช่ไหลออก และค่าเงินสหรัฐเลยไม่ค่อยอ่อนลงและอาจจะแข็งค่าขึ้นด้วยครับจากกรณีนี้

เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐพิมพ์เงินเพิ่มได้ไม่ค่อยมีขีดจำกัด และยังไม่ค่อยทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะมีหลายๆ ประเทศที่ใช้ธนบัตรสหรัฐควบคู่กับเงินสกุลของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่การเมืองไม่มั่นคง หรือมีอัตราเงินเฟ้อสูงๆ เช่น โซเวียตสมัยก่อน แอฟริกา ละตินอเมริกาบางประเทศ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นในหนังแนวมาเฟียบางเรื่อง เปรียบเทียบก็เหมือนกับที่ประเทศลาวและพม่ายินดีที่จะรับเงินบาทในการซื้อขายและอาจจะยินดีรับมากกว่าเงินสกุลตัวเองในบางช่วงเวลา ธนบัตรสหรัฐจึงเป็น hard currency คือเงินสกุลแข็ง ซึ่งถูกนำมาใช้สื่อในการแลกเปลี่ยน ทำให้เงินดอลล่าร์จึงเหมือนแบงค์กงเต๊กคือ พิมพ์ออกมาได้เรื่อยๆ แต่ที่ต่างจากแบงค์กงเต็ก คือ มันใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้น่ะสิครับ เพราะความเชื่อมั่นในประเทศสหรัฐ In dollar, we trust ครับ


11. ทำไมตลาดหุ้น usa ถึงตกน้อยกว่าตลาดหุ้นที่อื่น ทั้งๆที่ usa เป็นต้นตอของปัญหารอบนี้ อย่างหุ้นเอเซียส่วนใหญ่ก็ลงมากกว่า 50% แต่ usa high
14000 ตอนนี้ยังมากกว่า 8000 เลยครับ เป็นเพราะว่านักลงทุนของเขาส่วนใหญ่
เป็นสถาบันที่ไม่ขี้ตกใจเหมือนประเทศอื่นๆปะครับ

- ก็เหมือนนักลงทุน VI ครับ เมื่อหุ้นลงแล้วเราคิดว่าจะถือเงินสดบางส่วน เราคงเลือกขายหุ้นที่เราชอบหรือมั่นใจน้อยที่สุด ดังนั้นถ้าประเทศสหรัฐมีปัญหาและสถาบันการเงินต้องขายหุ้นส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินกลับมา ก็คงเลือกขายหุ้นในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศตนเองก่อนครับ และอีกประการหนึ่ง คือ หุ้นใน DJ หรือ S&P หลายตัวนั้นมีลักษณะ Well diversified คือ มีรายได้จากทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น หุ้นอย่าง Coca Cola , P&G , Kellogg, Phillip Morris , Microsoft ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งหุ้นพวกนี้มักจะแข็งกว่าตลาดครับ ดังนั้น จริงๆ แล้วหุ้นไทยบางตัวที่ส่งออกไปสหรัฐมากๆ ยังเสี่ยงกว่าหุ้นในสหรัฐอย่าง Coca Cola หรือ Phillip Morris ( บุหรี่ Marlboro ) เสียอีกครับ

12.ตามหลักเศรษฐศาสตร์ถ้าประเทศไหนยิ่งมี reserve เยอะก็จะทำให้ค่าเงินแข็งใช่หรือไม่ reserve ของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงญี่ปุ่น ถ้าเป็นแบบนี้ค่าเงินหยวนควรจะแข็งค่ากว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันเยอะเลยใช่หรือไม่ครับ

- Reserve ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการ manage ค่าเงินเพื่อไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไปครับ กล่าวคือ ประเทศที่ใช้ fixed exchange rate อย่างจีน ถ้า reserve เพิ่มแสดงว่าธนาคารกลางมีการซื้อดอลล่าร์และขายเงินหยวน ซึ่งเกิดจากการที่จีนมีเงินดอลล่าร์เข้ามาจำนวนมากจากการเกินดุลการค้า ซึ่งการเกินดุลการค้าแสดงว่า การส่งออก ( เงินดอลล่าร์ที่ได้มา ) สูงกว่า การนำเข้า ( การใช้เงินดอลล่าร์ ) ดังนั้นเมื่อจำนวนที่ได้มานั้นมากกว่าความต้องการใช้ทำให้มีดอลล่าร์ส่วนเกิน หากธนาคารกลางไม่เข้าแทรกแซงก็จะทำให้ค่าเงินหยวนนั้นแข็งค่าขึ้น ( ดอลล่าร์แข็งค่าเทียบหยวน ) ซึ่งการที่จีนใช้ fixed exchange rate แสดงว่าจะปล่อยค่าเงินแข็งไม่ได้ ดังนั้นธนาคารกลางจีนจึงจำเป็นต้องซื้อดอลล่าร์เข้ามา จึงทำให้ reserve เพิ่มขึ้นครับ
อย่างไรก็ตาม การเพิ่ม reserve นั้นทำให้ธนาคารกลางประเทศนั้นๆ มีต้นทุน คือ เมื่อซื้อดอลล่าร์เข้าไปต้องมีการออกเงินหยวนเพื่อจ่ายออกไป ซึ่งจะทำให้ monetary base เพิ่มขึ้นซึ่งจะกระทบกับ money supply ซึ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางจะต้องต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่องส่วนเกิน หรือเรียกว่า sterilization ออกไป ซึ่งดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นเป็นต้นทุนของธนาคารกลางในการมี reserve เพิ่มขึ้น

ดังนั้นประเทศที่มี reserve เพิ่มขึ้นมากๆ วันหนึ่งจะต้องปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นมาบ้างเพื่อให้การเกินดุลการค้าลดลง และตรงกันข้าม ประเทศที่ reserve ลดลงมากๆ หรือใกล้หมด จะต้องปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อให้เกินดุลการค้า ซึ่งประเทศไทยเมื่อปี 40 ก็เป็นเช่นนี้

คำตอบข้อนี้อาจจะซับซ้อนไปบ้างสำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ผ่านวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค 101 มา แต่ยืนยันครับว่าเป็น course 101 คือ เบื้องต้นจริงๆ เพราะไม่ได้มีการวาด IS-LM หรือเข้าสมการใดๆ เลย และสามารถหาหนังสือมาอ่านเพิ่มได้ไม่ยากครับ ลองอ่าน เศรษฐศาสตร์มหภาค ของ อ. รัตนา สายคณิต ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดูได้นะครับ

13.อยากทราบมุมมองว่าค่าเงินดอลในระยะ 2-3 ปีมีแนวโน้มแข็งขึ้นหรืออ่อนค่าลง เนื่องจากมีหลายเสียง บางคนบอกว่าตอนนี้แข็งขึ้นเพราะต้องนำเงินจากทั่วโลก
กลับไปแก้ปัญหาสถาบันการเงินทำให้ค่าเงินแข็งชั่วคราว แต่จริงๆพื้นฐานเศรษฐกิจของเขาไม่ดี แต่บางคนบอกว่าสภาวะตอนนี้ทุกคนต้องที่ที่เป็น safe heaven มากที่สุดนั้นก็คือ พันธบัตร usa ซึ้งทำให้ bond yield 10 ปี ตอนนี้ต่ำมาก

- ครับ ทุกคนมองว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐเลวร้ายเพียงใด พันธบัตรสหรัฐยังเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ดีครับ เพราะทุกคนเชื่อว่าสหรัฐก็ยังน่าจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่หากผ่านไม่ได้จริงๆ คือสหรัฐล้ม ไม่ว่าถือเงินสกุลไหนก็ซวยอยู่ดีครับ หลายๆ ประเทศก็ยังเพิ่มเงินทุนสำรองที่เป็นสกุลดอลล่าร์อยู่ เหตุผลหนึ่งที่พันธบัตรสหรัฐหรือเงินดอลล่าร์เป็น safe heaven ก็เพราะเงินสกุลอื่นๆ เช่น ยูโร เยน ก็ยังไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีนักครับเพราะเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ว่าดีครับ และอีกอย่างที่สำคัญคือ ราคาสินค้า commodity ต่างๆ ก็ยังซื้อขายกันเป็นเงินดอลล่าร์ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเงินดอลล่าร์ก็ยังมีอิทธิพลสูงมากในตลาดโลก

14.ตามปกติแล้ว ถ้าดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าประเทศ usa(rp สูงกว่า fed fund) จะทำให้ค่าเงินแข็งใช่หรือไม่เพราะว่า เงินจากต่างประเทศจะเข้ามาในไทยเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงกว่า ฉะนั้นการที่แบงค์ชาติเพิ่งลดดอกเบี้ย r/p ลง 1% น่าจะทำให้ค่าเงินยิ่งอ่อนเร็วขึ้นใช่หริอไม่ เพราะส่วนต่างลดน้อยลง

ปัจจัยด้านดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการไหลเข้าของออกของเงินเท่านั้นครับ การไหลเข้าออกของเงินขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมากครับ เช่น

- การคาดการเงินเฟ้อในอนาคต หากเงินเฟ้อประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ แม้ดอกเบี้ยสูงก็อาจจะไม่ดึงดูดให้เงินไหลเข้าเพราะว่าการที่เงินเฟ้อสูงจะทำให้มูลค่าของเงินนั้นลดลง ( เงิน 1 บาทซื้อสินค้าได้น้อยลง )
- เสถียรภาพทางการเมือง ความเสี่ยงของประเทศ เนื่องจากเงินที่ไหลเข้าต้องมีที่ไป เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นนักลงทุนจะต้องดู default risk หรือ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ด้วย ดังนั้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยปากีสถานจะสูงกว่าสหรัฐ 1% หากเราเป็นนักลงทุนเราคงเลือกสหรัฐมากกว่า
- การเติบโตของเศรษฐกิจ ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงจะดึงดูดให้มีเงินลงทุนไหลเข้าในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางตรงอื่นๆ เช่น สร้างโรงงาน
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงก็จะมีส่วนที่ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงได้บ้างครับ แต่ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยบ้านเรายังสูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐอยู่เหมือนกันครับ หาก ธปท. ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ผมคิดว่าอัตราดอกเบี้ย R/P ในปีหน้าควรจะลดลงอีกประมาณ 1.5% เป็นอย่างน้อยครับ 

No comments:

Post a Comment