Wednesday, April 27, 2011

คุณ ih ครับ ภาค 1 โดย hongvalue จาก เวปกระทิงเขียว

1.เรื่องของ free flaot และ ผู้ถือหุ้นใหญ่ มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า หุ้นที่มี freefloat สูงมากๆ เช่น เกิน 80%
จะเป็นหุ้นที่ขึ้นยาก เพราะหุ้นอยู่ในมือรายย่อยเกือบเยอะไป ทำให้ไปได้ไกลๆยาก เช่น zmico
Freefloat 80% (http://capital.sec.or.th/webapp/freefloat/freefloat.php) หุ้นน่าจะขึ้นยากกว่า finance ตัวอื่นๆ เช่น bls ที่ free float 35%
อยากถามดังนี้
1.1ถ้าหุ้นที่พิ้นฐานเหมือนกันหมด คุณ ih คิดว่า free float ประมาณเท่าไหร่ หุ้นน่าจะขึ้นง่ายที่สุด

- ถ้าตอบแบบดูเรื่อง vol การซื้อขายเป็นหลัก free float ต่ำไป เช่น ต่ำกว่า 25% ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องน้อยเกินไป แต่ถ้าสูงมาก เช่น เกิน 70-80% ก็ทำให้หุ้นก็ค่อนข้างหนักเหมือนกันครับ ยกตัวอย่าง เช่น NFS แต่ก็มีข้อสังเกตครับว่า TTA นั้นมี free float สูงมากแต่หุ้นก็ขึ้นลงหวือหวาและมี vol การซื้อขายเยอะมาก

ถ้าตอบในเชิงพื้นฐาน หุ้นที่ free float ต่ำมาก คือ เจ้าของหรือผู้บริหารถือหุ้นเกิน 75% ทำให้มีอำนาจในการควบคุมบริษัทมากเกินไปทำให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไม่มีอำนาจมากพอที่จะสอบทานหรือคัดค้านมติที่สำคัญได้ และเจ้าของมักจะบริหารงานได้แบบสบายใจและตามใจโดยไม่ต้องเกรงว่าจะถูกใครมา take over ได้

ส่วนที่ float สูงมาก แสดงว่าผู้บริหารและเจ้าของถือหุ้นน้อย ก็อาจจะมีข้อเสียคือ ถ้าธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของผู้บริหารไม่ดี ก็มีแรงจูงใจที่ทำให้ผลประโยชน์ต่างๆ อาจจะไม่ตกกับบริษัทได้ครับเพราะผู้บริหารและเจ้าของไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกำไร ปันผลและราคาหุ้นของบริษัทมากเท่าที่ควร

1.2 ถ้าหุ้นตัวนั้นมีเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่นเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุน คุณ ih คิดว่าจะมีผลทำให้
หุ้นขึ้นยากกว่า การไม่มีเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไหม

- ปกติเจ้าหนี้มักจะไม่ค่อยมีนโยบายลงทุนระยะยาวในหุ้นแปลงหนี้เป็นทุนจึงมักจะหาโอกาสลดการลงทุน ซึ่งอาจจะขายออกในกระดานหรือหาผู้ซื้อแบบ big lot ถ้าเป็นแบบแรกก็ทำให้ supply หุ้นนั้นเพิ่มขึ้นก็ทำให้ในระยะสั้นๆ หุ้นตัวนั้นจะขึ้นได้ยาก แต่ในระยะยาวราคาหุ้นก็ขึ้นกับกำไรและเงินปันผลครับ เช่น กรณีของ BH นั้นในช่วงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ๆ นั้น BBL ก็ถืออยู่เยอะครับแต่ทาง BBL เน้นการขายออกมาแบบ PO และ big lot

2.การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี ev/ebitda นั้น เหมาะสมกับหุ้นที่มีหนี้และค่าเสื่อมเยอะๆใช่ไหม
เช่นกลุ่ม สื่อสาร คุณ ih ใช้ ev/ebitda วิเคราห์หุ้นบ้างหรือไม่ อย่างไร

- แต่ถ้าค่าเสื่อมเป็นค่าเสื่อมของสินทรัพย์ที่ต้องลงทุนทดแทนสินทรัพย์ที่หมดอายุหรือล้าสมัย เช่น เครื่องจักร รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ค่าเสื่อมราคาที่บวกกลับใน ebitda นั้นก็ไม่ได้เป็น free cash flow แต่ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ต้องทดแทนในระยะเวลาที่สินทรัพย์นั้นตัดค่าเสื่อมจนหมด เช่น อาคาร ฯลฯ หุ้นประเภทนี้อาจจะเหมาะจะใช้ ebitda มากขึ้นมาหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ebitda นั้นบวกกลับด้วยดอกเบี้ยและภาษีเข้าไปด้วยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปจริง ดังนั้น ebitda จึงไม่สะท้อนเงินสดที่เข้าบริษัทได้

ส่วนใหญ่ถ้าจะใช้ ebitda ก็จะไม่ค่อยใช้หา valuation ครับ แต่มักจะใช้เปรียบเทียบความถูกแพงของหุ้นในกลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรมเดียวกันมากกว่า เพราะ ebitda จะไม่สะท้อนความแตกต่างของอัตราภาษี ต้นทุนเงินทุน และนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาที่ต่างกัน ดังนั้น ebitda margin ( ebitda / sale ) จะสะท้อนความสามารถในการทำกำไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัท A และ B มีนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ประเภทเดียวกันในจำนวนปีที่ต่างกันเช่น 20 ปีและ 30 ปี แม้ทุกอย่างจะเหมือนกันหมดแต่หุ้น A จะมี p/e สูงกว่า B เพราะ A จะมีค่าเสื่อมราคาสูงกว่า แต่ A จะมี cash flow ดีกว่า B เพราะ A จะเสียภาษีน้อยกว่า ( เพราะกำไรทางบัญชีก่อนหักภาษีของ A ต่ำกว่า B )

3.การทำ stock repurchase ถ้าไม่ได้ทำตอนเกิดวิกฤคิตลาดหุ้นเพื่อพยุงราคาหุ้น (รู้สึกว่า gmm ทำตอน
เครื่องบินชนตึก world trade ) เรื่องนี้จะสะท้อนถึง วิสัยทัศน์ได้ไหมว่า ไม่สามารถเอาเงิน ไปลงทุนอะไรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นได้( ก็เลยซื้อหุ้นคืนเพื่อทำให้ eps สูงขึ้น ปันผลเยอะขึ้น หรือมีอีกอย่าง ซื้อหุ้นคืน
น่าจะป้องกันการ take over อย่างไม่เป็นมิตรได้ )

ตอนนั้นธุรกิจของ GMMM ช่วงนั้นดีกว่าตอนนี้อยู่ระดับหนึ่งเพราะการแข่งขันของคลื่นวิทยุยังไม่รุนแรงเท่าตอนนี้ และผู้บริหารอาจจะมองว่าราคาหุ้นตอนนั้นน่าจะต่ำไปเมื่อเทียบกับภาวะแวดล้อมทางธุรกิจตอนนั้น แต่เมื่อสถานการณ์ทางธุรกิจแย่ลงก็ทำให้กำไรและราคาหุ้นลดลงมาก็เลยทำให้ Gmmm ไม่มีทางเลือกคือจะต้องลดหุ้นที่ซื้อคืนไป เพราะถ้าขายออกมาในกระดานจะต้องรับรู้ผลขาดทุนมาก

4. ข้อความจาก web prakard นะครับ โดยนายประกาศ เกี่ยวกับ property fund
http://www.prakard.com/default.aspx?g=posts&t=27270

"ถ้าคุณถามผมว่าหลักการมันผิดตรงไหน ผมก็บอกได้ว่ามันผิดมาตั้งแต่วันแรกที่ไปคิดว่านักลงทุนต้องการผลตอบแทนแค่ 8% คุณจะไปรู้ได้ยังไงว่าจริงๆ นักลงทุนต้องการเท่าไรที่เขาจะคิดว่ามันจะ cover ความเสี่ยงได้จริงๆ เพราะพวกนักลงทุนเองเองก็ไม่รู้ไม่เข้าใจหรอกว่า quality ของ underwrite asset ที่แต่ละกองทุนจะไปซื้อมามันคืออะไร ขณะที่แต่ละกองก็ลงใน asset ที่ไม่เหมือนกัน ความเสี่ยงมันย่อมมีไม่เท่ากันด้วย

อย่างกองที่ 1 ลงใน industrial leasing กอง 2 ลงใน residential กอง 3 ลงในสนามบิน แล้วบอกว่าให้ spread 2.5 หรือ 3 เท่ากันหมดนี่ผมว่าหลักการมันผิดแล้วนะ เพราะ underwrite asset แต่ละกองมันต่างกัน คุณภาพหรือความเสี่ยงของ underwrite asset มันก็จะเป็นคนละเรื่องกันด้วย อย่างคุณลงใน industrial leasing นี่ความเสี่ยงสูงสุดเลยนะ คนในวงการอสังหาฯ รู้กันดี แล้วคุณจะให้นักลงทุนรับเท่ากันทุกกองเลยหรือ ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้

พี่ ih รบกวนช่วยขยายความหน่อยได้ไหมครับว่า industrial leasing กับ residential ต่างกันอย่างไร
และ spread 2.5 หรือ 3 คืออะไรเหรอครับ

-   Spread 2.5 และ 3 นั้นคือ ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้เป็นตัวเทียบวัด ( ปกติใช้ 10 ปี )

Industrial estate ก็เป็นพวกโรงงาน โกดังให้เช่น ส่วน residential ก็เป็นพวกเซอรวิสอพาร์ตเมนต์ บ้านเช่า

ในทางทฤษฎี Industrial estate อาจจะถูกมองว่าเสี่ยงกว่าตรงที่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีนั้นอาจจะมีโรงงานที่ปิดตัวทำให้ผู้เช่าย้ายออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นต่างประเทศ residential นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนในประเทศตัวเอง แต่ของไทยกองทุนอสังหาฯ ที่เป็น residential นั้นเป็นเซอร์วิสอพารต์เมนต์ระดับ A และบ้านเช่าแบบราคาแพงซึ่งผมว่าก็ sensitive กับเศรษฐกิจอยู่พอสมควร ถ้า residential บ้านเราเป็นพอร์ตที่เป็นอพาร์ตเมนต์ระดับ 3000-5000 บาทต่อเดือนหรือหอพักนักศึกษา ที่มีคนเช่าเต็มหรือเกือบเต็ม ( ไม่ใช่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่รู้ว่าจะมีคนเช่าหรือเปล่า ) แล้วผมว่าน่าสนใจและความเสี่ยงต่ำตามทฤษฎีจริงๆ

ตัวที่เป็นตัวกำหนด spread ของกองทุนอสังหาฯ บ้านเราผมคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิของการใช้ที่ดินครับ กองทุนอสังหาฯ ที่เป็น freehold จะต้องมี yield ที่ต่ำกว่า leasehold ครับโดยเฉพาะ leasehold ที่กำหนดชัดเจนว่าเมื่อครบอายุเจ้าของทรัพย์สินจะเอาคืนไปแน่ๆ เช่น กองอสังหาฯ ของ Future park เป็นต้น ( กองทุนสมุยนี่ผมไม่แน่ใจครับเพราะสัญญาเขียนแล้วอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง )

6.เรื่องการซื้อหุ้นคืนของ se-ed น่ะครับ
ผมดูในงบส่วนผู้ถือหุ้น งบรวม
ของปี 49 จะเห็นว่ามีรายการ สำรองหุ้นทุนซื้อคืน 122ล้าน
และรายการหักหุ้นทุนซื้อคืน ที่ติดลบ 122ล้าน
ว่า การที่ se-ed ซื้อหุ้นคืนในช่วงปี 47
ผมดูงบปี 47 กระแสเงินสดการจัดหาเงิน ติดลบ 122 ล้านจากการซื้อหุ้นคืน
มูลค่า122 ล้านนั้น se-ed จะต้องเสียเงินสดไปก้อนแรกแล้ว
และยังต้องมาหักกำไรสะสมอีก ก้อนนึงคือ 122 ล้าน หรือ


อยากเรียนถามดังนี้ จริงๆแล้ว se-ed เสียเงินจริงๆ แค่ 122 ล้านในงบปี 47
ส่วนที่ตั้งสำรองในส่วนผู้ถือหุ้น ไม่ได้เสียเงินสดจริงถูกไหมครับ
แต่มีผลทำให้กำไรสะสมลดลง แต่ส่วนผุ้ถือหุ้นไม่ได้ลดลงจริง
เพราะมีรายการ 2 รายการ สำรองซื้อคืน กลับหักหุ้นทุนซื้อคืน (เป็นบวกกับลบ
หักล้างกัน = 0)
และพอลดทุนจริงในปี 50 ก็ไม่ได้เสียเงินเพิ่มแค่มีผลต่อกำไรสะสมลด

ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องไหม ถ้าเข้าใจถูกหมดก็รบกวนพี่ ih ข้ามข้อนี้ได้เลย
หรือถ้าเข้าใจผิดหรือพี่ ih มีอะไรจะเสริมก็เชิญเลยครับ

- ข้อนี้ขอติดไว้ก่อนครับขอไปดูรายละเอียดอีกทีเพราะเรื่องงบการเงินในเชิงบัญชีเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยถนัดนักครับ

ขอรบกวนถามพี่ IH เพิ่มเติมกรณีนี้นะครับ คือผมมี csl ลงทุนไว้นานแล้วครับ ตั้งแต่ราคายังไม่สูงนักจนล่าสุดก็มีหุ้นมากพอสมควร เนี่องจากผมได้ปันผลก็นำมาซื้อเพิ่มตลอดทุกปี ตอนนี้ก็มีจำนวนพอสมควร ล่าสุดผมได้ซี้อเพิ่มอีกซึ่งก็ราคาสูงกว่าเดิมมาก แต่ผมมองในแง่ของปันผลมาตลอด ซึ่งก็ไม่เคยขายหุ้นตัวนี้เลย แต่พอมีกรณีลดทุนในครั้งนี้ ผมไม่ทราบว่าจะมีปัญหากับเงินปันผล/ราคาหุ้นหรือไม่ครับ เพราะผมตามดูมาตลอดก็เห็นว่าตัวกิจการหลักก็ไม่ค่อยมีการเติบโตเท่าไหร่นัก จากรายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ลดลงจากแรงแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ปีนี้ก็ได้จากส่วนที่ไปลงทุนในกิจการอื่นที่ไม่ใช่ในกิจการหลักที่ตนเอง รายได้จากบริษัทย่อย ได้แก่ TMC (โฆษณาผ่านสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง), ADV (โฆษณาผ่านหน้าเวปไซต์) และ Watta (โฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์) ยังทรงตัว แล้วถ้าหากมีการลดทุน ถึงแม้บริษัทจะมีกระแสเงินสดมาก แต่จะกระทบในส่วนของทุน และ เงินปันผล/ราคาหุ้นหรือไม่ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจที่จะถือต่อหรือขายออกไปลงทุนในตัวอื่นแทน

ขอความกรุณาข่วยวิเคราะห์ให้ด้วยครับ ของคุณครับ

- ธุรกิจ internet ของ CSL จะมีรายได้ลดลงในส่วน dial up และ broadband ( internet ความเร็วสูง ) แต่จะไปเพิ่มส่วนของ leaseline คือ ส่วนลูกค้าองค์กร ถ้าดูงบปีก่อนจะเห็นว่ารายได้รวมของธุรกิจ internet จะคงที่พอดี ส่วนธุรกิจสมุดหน้าเหลือง ปัจจุบันแม้ไม่ใช่รายได้ที่มากที่สุด แต่น่าจะเป็นตัวที่ทำกำไรมากที่สุดครับเพราะแทบไม่มีคู่แข่ง ดังนั้นผมว่า CSL น่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อให้สะท้อนธุรกิจที่ทำกำไรหลักในปัจจุบันมากกว่านี้ หรือแยกเอาบริษัทสมุดหน้าเหลืองมา list ( แต่ก็ไม่ค่อยน่าทำเพราะ CSL มีเงินสดเหลือเยอะ ) ผมเคยคุยกับผู้ถือหุ้นของ CSL เค้าไปศึกษาและบอกว่าธุรกิจสมุดหน้าเหลืองที่ต่างประเทศนั้นมี p/e 20-30 เท่า ส่วนที่ไปซื้อหนังสือ วัฎฎะ ผมว่าเป็นการซื้อที่ดีครับและน่าจะปรับปรุงและสร้างรายได้ในอนาคตเพิ่มขึ้นได้เพราะว่าธุรกิจหนังสือพวก classified ก็ต้องมี website ของตนเองและ 2 รูปแบบนี้จะสนับสนุนกันอยู่

การลดทุนของ CSL ไม่น่าจะมีปัญหากับปันผลของหุ้นในระยะยาวครับ ผมยังเชื่อว่า CSL น่าจะปันผลได้เกือบๆ 100% ของกำไรได้อยู่ครับ เว้นเสียว่าจะมีการลงทุนใหญ่ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก

7 ทำไมรายได้ของธุรกิจโรงไฟฟ้าถึงจะต้องมีผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆคับ
ใช่ว่าตอนหลังๆตอนคืนให้รัฐเลยผลิตน้อยปะครับ

- เป็นรูปแบบที่เค้าคิดกันไว้ตั้งแต่แรก แต่ถ้าผมเดา การให้กำไรมากๆ ช่วงแรกก็ดีกับผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าครับเพราะเงินที่ได้มาเร็วกว่าย่อมมีมูลค่ามากกว่าเงินที่ได้ตอนหลังๆ ตามหลัก present value นอกจากนี้เงินที่ได้ช่วงแรกก็ทำให้บริษัทสามารถเอาเงินนี้ไปลงทุนขยายหรือสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ได้ด้วยครับ

8.ขอถามเกี่ยวกับเรื่องการ cap ดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของหุ้นอสังหริมทรัพย์หน่อยนะครับ


หุ้นกล่ม property นั้นนอกจาก ดอกเบี้ยจ่ายแล้วจะมีดอกเบี้ยจ่ายตัวที่สองในงบกระแสเงินสด
ที่เขียนว่า ดอกเบี้ยจ่าย (ประกอบด้วยดอกเบี้ยจ่ายสำหรับดำเนินการ และดอกเบี้ยจ่ายสำหรับต้นทุนโครงการ)

8.1ผมอยากถามว่า ดอกเบี้ยจ่ายในงบกระแสเงินสด ก็คือต้นทุนของโครงการ ถ้าสมมุติว่าบ้านยิ่งสร้างนานเท่าไหร่
Grossmarginก็ยิ่งหาย

-              เท่าที่ทราบเค้าจะมี limit เหมือนกันครับว่าจะ cap ได้ไม่เกิดเท่านั้นเท่านี้ ดังนั้นสำหรับโครงการเก่าเก็บที่เปิดนานแล้วถึงจุดหนึ่งต้นทุนที่ดินจะไม่เพิ่มแล้วครับ แต่ถ้าช่วง 1-3 ปีหลังจากเปิดโครงการแล้วขายไม่หมดช่วงนี้ดอกเบี้ยจะถูกรวมเข้าไปในต้นทุนที่ดินครับ

8.2ต่อจากคำถามก่อนหน้า ถ้าเป็นการสร้างคอนโด ต้นทุนก็ควรสูงกว่า เพราะใช้เวลาสร้างนานแต่กลับมี gross margin
สูงกว่า มันจะคัดแย้งกันไหมครับ

- ไม่ขัดแย้งครับและควรจะเป็นเช่นนั้นด้วยครับ เพราะคอนโดฯ สร้างนานกว่า เงินจึงไปจมมากกว่า ( ทั้งเงินของบริษัทและเงินเจ้าหนี้ ) จึงมี asset และ inventory turnover ต่ำกว่าการสร้างบ้านเดี่ยวหรือทาวเฮาส์ ดังนั้นการทำคอนโดฯ ขายจะมีรอบการหมุนเงินช้ากว่า ดังนั้นถ้าจะให้ ROA การทำคอนโดฯ เท่ากับบ้านเดี่ยว จำเป็นต้องให้มี margin สูงกว่า เพราะ ROA คือ Asset turnover คูณด้วย net profit margin ครับ

8.3.ถ้าดอกเบี้ยจ่ายในงบกระแสเงินสดระหว่างก่อสร้างเป็นต้นทุนการก่อสร้างที่ ถูกรวมเป็นต้นทุนค่าขาย
แล้วดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนจะมาจากอะไรเหรอครับ ใช่ค่าโฆษณา เงินเดือนพนักงานขายปะครับ

- มาจากโครงการเก่าที่ cap ดอกเบี้ยไปในต้นทุนไม่ได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นดอกเบี้ยที่กู้มาเพื่อใช้ในการสร้างตัวบ้านครับ ( แต่ส่วนหลังไม่แน่ใจครับ ) ปกติแล้วถ้าซื้อที่ดินแล้วยังไม่เปิดโครงการ ดอกเบี้ยที่เกิดก่อนเปิดโครงการจะเข้าไปในต้นทุน แต่ถ้าเปิดแล้วเหมือนว่าดอกเบี้ยจะต้องเข้าไปในค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ผมไม่สันทัดนักลองปรึกษาคุณ Mon Money ดูอีกทีได้ครับ

8.4.คำว่า ที่ดินและต้นทุนในการพัฒนาโครงการ สุทธิในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจะหมายถึง
คอนโด หรือบ้านที่ขายไปแล้ว แต่ยังรอการโอน หรือว่า แค่ที่ดินเปล่าเหอรครับ

- เป็นที่ยังไม่ได้โอนครับ แต่ถ้าเป็นที่ดินเปล่า น่าจะเป็นรายการ ที่ดินรอการพัฒนา ดังนั้นรายการนี้ควรจะเป็นโครงการที่กำลังจะเปิด ( เช่น ถมดินอยู่ สร้างบ้านตัวอย่างอยู่ ) และเปิดไปแล้วและอยู่ระหว่างการขายครับ

9.คุณ ih ช่วยแนะวิธีการดูหน่อยได้ไหมครับว่า บริษัท property ว่า จะมีจุดสังเกตยังไงว่า จะต้องเพิ่มทุนไหม
เช่น เปิด project ใหม่แต่ ยังไม่มี landbank รอ หรือ free cash flow ติดลบต่อนื่อง (ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวไหม)

- นั่นสิครับ ส่วนหนึ่งคงต้องดู d/e ด้วย และยังขึ้นอยู่กับ project ปัจจุบันและ project ในอนาคตที่อยู่ในใจผู้บริหารด้วย ( ซึ่งอย่างหลังนั้นเราไม่รู้ ) แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผมเห็นคือ บริษัทที่เดิมทำบ้านเดี่ยว ทาวเฮาส์ ถ้าจะเปลี่ยนไปทำคอนโดฯ ก็จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเยอะ ดังนั้น บริษัทไหนที่จะมียอดขายเป้าหมายโต 50-100% จากปัจจุบัน เสี่ยงในการเพิ่มทุนครับ ส่วนจะเพิ่มทุนด้วยวิธีใดและกระทบผู้ถือหุ้นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทครับ อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าบริษัทที่กู้มาเยอะ เช่น d/e ซัก 2 เท่า และเกิดยอดขายและการรับรู้รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญซัก 2-3 ไตรมาสติดกัน ก็จะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องและอาจจะต้องเพิ่มทุนครับ

10.การที่ cpall มีการเช่าพื้นที่ แต่ bigc เป็นที่ดินของตัวเอง ถ้าเข้า model
dcf จะสะท้อนว่า cpall พอหมดสัญญาเช่า ต้อง assume ว่า จะจ่ายค่าเช่า
ต่อไปเท่าไหร่ ถูกต้องไหม และการเช่าไม่มีที่เป็นของตัวเอง cash flow investing
สูงเท่าไหร่ แต่ก็สะท้อนว่าต้องมี cash flow investing มาเรื่อยๆ เมื่อหมดสัญญาเช่า คละๆกันแล้ว น่าจะทำให้ cash flow ของทั้ง cpall และ bigc makro พอฟัดพอเหวี่ยงกัน ไม่ทราบว่าพี่ มีมุมมองอย่างไร

- การจ่ายค่าเช่าของ cpall จะอยู่ในค่าใช้จ่าย sg&a อยู่แล้ว ซึ่งการเช่าตึกแถวของ cpall มักจะจ่ายค่าเช่าคงที่แม้หมดสัญญาก็คงไม่เพิ่มมากเพราะไม่ใช่สัญญาเช่าระยะยาว 30 ปีแบบพวกศูนย์การค้าที่ทำสัญญาเช่าไปเมื่อ 20-30 ปีก่อนที่ค่าของเงินตอนสมัยนั้นต่ำกว่าปัจจุบันมาก

เนื่องจาก cpall ไม่ต้องซื้อที่ดิน หรือสร้างอาคาร ดังนั้น cash flow from investing หรือ capex ของ cpall จะไปหนักเอาส่วนของพวกส่วนตกแต่งร้าน ตู้วางสินค้า ระบบ computer ซึ่งไม่น่าจะมีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับกำไร ซึ่งต่างจากพวก BigC ดังนั้นค่าเสื่อมราคาของ cpall น่าจะเป็นค่าเสื่อมที่ต้องนำมาลงทุนทดแทนจึงไม่ค่อยจะเป็น free cash อย่างค่าเสื่อมอาคารของ BigC Makro

ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบลองดูครับ ว่าอัตราส่วน ค่าเสื่อมราคา / กำไรสุทธิ ของ CPALL BIGC MAKRO CPN MINT เป็นเท่าไหร่ แล้วถ้าได้มาเล่าให้ฟังและวิเคราะห์กันได้นะครับ

No comments:

Post a Comment